Authority & Harm

ผู้ช่วยผบ.ตร.ประชุมศปถ.ช่วงสงกรานต์ กำชับทุกฝ่ายจราจรให้เรียบร้อยปลอดภัย



กรุงเทพฯ-ผู้ช่วย ผบ.ตร.ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ขอบคุณตำรวจทุกนายร่วมปฏิบัติหน้าที่ตลอดเทศกาล กำชับทุกฝ่ายบริหารการจราจรให้เรียบร้อย ปลอดภัยในการเดินทางกลับทุกเส้นทาง

เมื่อ17 เม.ย.67 เวลา 11.00 น. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.)เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) โดยได้ขอบคุณข้าราชการตำรวจทุกคนที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจรตลอดช่วงเทศกาล พร้มอกำชับทุกฝ่ายดูแลบริหารการจราจรให้เรียบร้อย สะดวก ปลอดภัยในการเดินทางกลับของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าในวันนี้จะยังคงมีประชาชนเดินทางอยู่เป็นจำนวนมาก ของให้ควบคุมเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.ท.กรไชยฯ กล่าวว่า การติดตามสถานการณ์อุบัติเหตุและการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ในช่วง 7 วันควบคุมเข้มข้น โดย6 วันแรก ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 พบว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตของเทศกาลสงกรานต์ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และพบว่าในปีนี้ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งสถิติการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตอาจสะท้อนถึงการประชาสัมพันธ์ที่ดี ควบคู่การเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและประชาชนให้ความร่วมมืออย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังคงต้องเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกการจรารให้แก่ประชาชนที่เดินทางกลับ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลักอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตได้      

นอกจากนี้ พล.ต.ท.กรไชยฯ ได้กำชับในที่ประชุม ให้หน่วยในพื้นที่ปรับแผนตามสถานการณ์ตามความเหมาะสม กับเส้นทางการเดินทางของประชาชน ทั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ด่านตรวจเสมือน และชุดเคลื่อนที่เร็ว โดยได้เน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ โดยพิจารณาจัดกำลังสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้เหมาะสม เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด กรณีมีข้าราชการตำรวจได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ต้นสังกัดและทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้การช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและครอบครัว เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยให้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 11-16 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 1,811 ครั้ง ลดลงร้อยละ 10.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา , ผู้เสียชีวิตสะสม 243 ราย ลดลงร้อยละ 2.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา , ผู้บาดเจ็บสะสม 1,837 คน ลดลงร้อยละ 8.42 โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถเร็ว , ดื่มแล้วขับ , ตัดหน้าระยะกระชั้นชิด ตามลำดับ / พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บ/เสียชีวิต คือ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัย (ไม่สวมหมวกนิรภัย/ไม่คาดเข็มขัด) , ขับรถเร็ว , ดื่มแล้วขับ / ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยายนต์ รองลงมาคือรถกระบะ รถเก๋ง / ส่วนการจับกุมในคดีเมาแล้วขับสะสม 6 วัน รวม 20,420 ราย สถิติสูงสุดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 3 จำนวน 5,315 คน รองลงมาในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 4 จำนวน 4,414 ราย

พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า โดยศูนย์ดังกล่าวได้มีการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 - 18 เมษายน 2567 ในการขับเคลื่อนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทุกมิติ ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายและสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน 

โดยการอำนวยความสะดวกและจัดการจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการจัดกำลังตำรวจกว่า 30,000 นาย ดูแลการจราจรตลอด 7 วัน มีปริมาณรถเข้า-ออกจากกรุงเทพมหานคร บนทางหลวงสายหลักและมอเตอร์เวย์ จำนวน 6,882,802 คัน (ออกจาก กทม. จำนวน 3,469,720 คัน และเข้า กทม. จำนวน 3,413,082 คัน) วันที่ประชาชนเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร มากที่สุดคือ วันที่ 12 เมษายน 2567 วันที่ประชาชนเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครมากที่สุดคือ วันที่ 17 เมษายน 2567

มีการเปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) จำนวน 108 ครั้ง (ระบายรถขาออก 63 ครั้ง / ขาเข้า 45 ครั้ง) ,รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่ขออนุญาตเดินรถในช่วงเวลาห้าม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 36,423 คัน อนุญาตให้เดินรถได้ 35,632 คัน รถที่ได้รับอนุญาตมากที่สุดคือ รถบรรทุกน้ำมันหรือแก๊ส รองลงมาคือรถบรรทุกอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค มีรถที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 791 คัน และพบผู้ฝ่าฝืนเดินรถในเวลาห้าม จำนวน 785 ราย เนื่องจากเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด

สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก มีการตั้งจุดตรวจทุกวันเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนทั่วประเทศ แบ่งเป็น จุดกวดขันวินัยจราจร 11,883 จุด, จุดตรวจแอลกอฮอล์ 7,953 จุด พบผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 281,602 ราย ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 21,670 ราย ข้อหาไม่สวมหมวกนิรภัย 31,234 ราย และข้อหาขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด จำนวน 119,816 ราย โดย 10 ข้อหาหลักนี้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

ส่วนการป้องกันและลดอุบัติเหตุ รัฐบาลกำหนดค่าเป้าหมายให้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (สงกรานต์ 2564-2566) โดยการเกิดอุบัติเหตุ 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ 2567 เกิดจำนวน 2,044 ครั้ง ลดลงจำนวน 159 ครั้ง (ลดลง 7.22%) จำนวนผู้เสียชีวิต มีจำนวน 287 ราย เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 23 ราย (เพิ่มขึ้น 8.71%) จำนวนผู้บาดเจ็บ มีจำนวน 2,060 คน ลดลง 148 คน (ลดลง 6.7%) และการดำเนินคดีข้อหาเมาขับซ้ำสอง มีจำนวน 96 ราย

พล.ต.ท.กรไชยฯ กล่าวว่า การอำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เทศกาลสงกรานต์ 2567 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ที่ต้องการให้ตำรวจอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนเดินทางโดยสวัสดิภาพ ลดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยจากสถิติพบว่าปีนี้การเกิดอุบัติเหตุลดลงมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยลดลงถึง 7.22% แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในการดูแลตนเอง คนรอบข้าง และสังคม มีวินัยจราจร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง นอกจากนี้ ขอขอบคุณข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร และดูแลผู้ใช้ทางอย่างเต็มกำลังความสามารถตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการสรุปข้อมูล วิเคราะห์สภาพปัญหาและถอดบทเรียน ปัญหาการปฏิบัติทุกๆ ด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงเทศกาลสำคัญต่อไป