In News

ไทยให้สปป.ลาวกู้เงิน1.8พันล.ผ่อน30ปี ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข12(R12)



กรุงเทพฯ-รองโฆษกเกณิกา เผย ครม. เห็นชอบให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาล สปป. ลาว ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12)

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (18 เมษายน 2567) มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก - จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว (โครงการ R12) จำนวน 1,833,747,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการ R12 เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร  (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวพะลา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป. ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ กวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร ประกอบด้วย

1. ปรับปรุงสายทางตามมาตรฐานทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway)
2. ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่าง ๆ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน
3. ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชนระบบระบายน้ำ และติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย
4. พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว

โดยมีเงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้

(1) เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
(1.1) อัตราดอกเบี้ย                                    ร้อยละ 1.75 ต่อปี
(1.2) อายุสัญญา                                       30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี)
(1.3) ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ.                 ร้อยละ 0.15 ของวงเงินกู้
(1.4) ระยะเวลาการเบิกจ่าย                           6 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา
(1.5) ผู้ประกอบการงานก่อสร้างและที่ปรึกษา        นิติบุคคลสัญชาติไทย
(1.6) การใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย        ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
(1.7) ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา                  นิติบุคคลสัญชาติไทย
(1.8) กฎหมายที่ใช้บังคับ                               กฎหมายไทย
(2) รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
   (2.1) วงเงินให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน1 (Concessional Loan) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,833,747,000 บาท ดังนี้
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน วงเงิน (บาท)
(1) วงเงินให้กู้ (จากแหล่งเงินงบประมาณร้อยละ 50 และเงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศร้อยละ 50) 1,742,684,000
(2) วงเงินให้เปล่า (จากแหล่งเงินงบประมาณ) 91,063,000
รวมทั้งสิ้น 1,833,747,000

(2.2) แหล่งที่มาของเงินทุนโครงการ R12 ประกอบด้วย
(2.2.1) เงินงบประมาณ แบ่งเป็น 1) วงเงินให้เปล่า จำนวน 91,063,000 บาท และ 2) วงเงินให้กู้ (ร้อยละ 50 ของวงเงินให้กู้) จำนวน 871,342,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 962,405,000 บาท โดยขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจาก สงป. เป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2570 รวมระยะเวลา 3 ปี ดังนี้

ปีงบประมาณ พ.ศ. การจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. (บาท)
2568 336,841,750
2569 336,841,750
2570 336,841,750
รวมทั้งสิ้น 962,405,000

(2.2.2) เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (เงินนอกงบประมาณ) คิดเป็นร้อยละ 50       ในส่วนของเงินกู้ รวมวงเงิน 871,342,000 บาท ซึ่ง สพพ. จะกู้เงินระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก ใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี สำหรับปีที่ 6 - 15 และออกพันธบัตรระยะเวลา 15 ปี สำหรับปีที่ 16 - 30 โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.00 ต่อปี โดย สพพ. เป็นผู้รับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา
ทั้งนี้ กรณีที่ สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ สพพ. จะพิจารณาใช้เงินสะสมของ สพพ. ไปก่อน หาก สพพ. ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจะขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเสริมสภาพคล่องและเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป

2.2 รายละเอียดค่าใช้จ่ายภายใต้วงเงินให้ความช่วยเหลือ

รายการ จำนวนเงิน (บาท)
(1) ค่าก่อสร้าง 1,676,000,000
          (1.1) งานก่อสร้างภายใต้วงเงินกู้ 1,584,937,000
          (1.2) งานก่อสร้างภายใต้วงเงินให้เปล่า
                   - งานปรับปรุงเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว
                   - งานสร้างจุดพักรถ
                   - งานปรับปรุงด่านนาเพ้า
91,063,000
44,212,000
6,454,000
40,397,000
(2) ค่าที่ปรึกษา 51,000,000
(3) ค่าบริหารจัดการ 20,000,000
(4) ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 84,000,000
(5) ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2,747,000
รวมทั้งสิ้น 1,833,747,000

ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการ R12 แล้ว สพพ. จะดำเนินการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรลุโครงการดังกล่าวตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง 5 ปี ต่อไป

3. จากการศึกษาพบว่า เส้นทาง R12 จะสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ (Transit & Customs time) จากจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมาย (Destination) เดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งภาคการผลิตและบริการที่สำคัญ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกันส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหมายเลข 8 (R8) และเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor : EWEC)

และคาดว่า มีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนการใช้เส้นทางจากเส้นทาง R9 มาใช้เส้นทางโครงการ R12 ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลให้โครงการ R12 สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย - สปป. ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น