In News

ผลวิจัยทางคลินิก-การใช้สมุนไพรในคน คณะกมธ.การอุดมศึกษาฯของวุฒิสภา



กรุงเทพฯ-รองคารม เผย ครม.รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ของคณะ กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

วันนี้ (18 เมษายน 2567) นายคารม  พลพรกลาง  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า วันนี้ (18 เม.ย. 67) ที่ประชุมครม. รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การวิจัยทางคลินิกและกาจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภาตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
 
โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยทางคลินิก รวมถึงการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคนอย่างเป็นระบบ ถือเป็นการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์สมุนไพรและภูมิปัญญาไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีข้อเสนอแนะ รวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการให้ทุนวิจัยและกลไกการสนับสนุนการวิจัยสมุนไพร กำหนดนโยบายและกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบที่บูรณาการทรัพยากรด้านวิจัยและนวัตกรรม กำหนดนโยบายและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสมุนไพร เป็นต้น และ (2) ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ เช่น ให้มีการพัฒนาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านการวิจัยสมุนไพร ให้มีการพัฒนามาตรฐาน รูปแบบและแนวทางการเก็บข้อมูลเวชระเบียนที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ สธ. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อว. ดศ. และ อก. โดยสรุปผลได้ดังนี้

1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
1.1 ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการให้ทุนวิจัยและกลไกการสนับสนุนการวิจัยสมุนไพร    
โดยกำหนดให้มีหน่วยงานให้ทุนสำหรับการวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ปัจจุบันมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายและจัดสรรงบประมาณให้ PMU โดยในปี พ.ศ. 2563 - 2566 มีการจัดสรรงบประมาณงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร รวมทั้งสิ้น 3,973.76 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,206 โครงการ และกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการจัดสรรทุนวิจัยด้านสมุนไพรและการแพทย์    แผนไทย ปีละประมาณ 50 ล้านบาท  จึงเห็นควรให้มีการนำข้อมูลการจัดสรรทุนวิจัยด้านสมุนไพรมาวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์และระดับความสำเร็จที่มีความพร้อมในการนำไปใช้ประโยชน์

1.2 . มอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในการบริหารจัดการด้านการวิจัยพัฒนาและการจัดการการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร  เห็นควรให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติรับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมและการจัดการการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร และหารือร่วมกับ สกสว. ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการร่วมของคณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินงานและสนับสนุนภารกิจให้ประสบความสำเร็จ

1.3 กำหนดนโยบายและกลไกสนับสนุนให้เกิดระบบที่บูรณาการทรัพยากรด้านวิจัยและนวัตกรรมสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงาน และสถานที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน (maker space) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย  ปัจจุบันมีโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ในสังกัด อว. จำนวน 58 โรงงานและศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center) ในสังกัด อก. จำนวน 11 ศูนย์ รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการด้านวิเคราะห์ วิจัยและควบคุมคุณภาพสมุนไพรในสังกัด อว. จำนวน 19 แห่ง เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรและคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการ

1.4 กำหนดนโยบายและส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนในการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยใช้องค์ความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นฐานในการพัฒนาเกิดเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม  เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรและคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ นำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ผลการดำเนินการที่ผ่านมา และวิเคราะห์เปรียบเทียบผลลัพธ์เป้าหมายเพื่อหาแนวทางในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรจากภาคเอกชนไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

1.5 กำหนดให้การพัฒนาข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้สมุนไพรเป็นแนวทางสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพร  กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสมุนไพรที่ผ่านมา เช่น โครงการประเมินมูลค่าการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย โครงการวิจัยและพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจสมุนไพร: การจัดทำ Outlook และนำร่องเสนอข้อมูลเศรษฐกิจประเทศไทยด้านยาสมุนไพร เป็นต้น  เห็นควรให้มีการนำชุดข้อมูลงานวิจัยมาวิเคราะห์แยกตามสัดส่วนการตลาดและวิเคราะห์แยกตามสัดส่วนการตลาด และ Technology Readiness Level เพื่อกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรแบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อดำเนินการตามสมุนไพรเป้าหมาย

2. ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ
2.1 อว. และ สธ. ร่วมกันพัฒนาคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านการวิจัยสมุนไพรการจัดทำแนวทางการประเมินข้อเสนอโครงการวิจัยในมนุษย์ของประเทศตามแนวทางที่เหมาะสมกับการวิจัยสมุนไพร  เห็นควรเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรเพื่อจัดทำแนวทางมาตรฐานงานวิจัยทางคลินิกของสมุนไพร โดยมีองค์ประกอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เช่น แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย เภสัชกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ เป็นต้น เพื่อการยอมรับและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง

2.2 อว. สธ. และ ดศ. ร่วมกันพัฒนามาตรฐาน รูปแบบและแนวทางการเก็บข้อมูลเวชระเบียนที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้ยาสมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย  เห็นควรมอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรวบรวมชุดข้อมูลการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้สมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทย เช่น โรคที่มีการใช้แพทย์แผนไทยในการรักษา สมุนไพรที่มีการใช้ในการรักษาโรค เป็นต้น จากหน่วยบริการในสังกัด สธ. และมอบหมาย สกสว.ประสานกับสำนักงานปลัด อว. เพื่อรวบรวมข้อมูลการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยใช้สมุนไพรหรือการรักษาตามแนวทางการแพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลในสังกัด อว.

2.3 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับคณะกรรมการสมุนไพรแห่งชาติ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ในการค้นหาผู้ประกอบการสมุนไพรรายย่อยที่มีศักยภาพ   เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางและความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายย่อยผ่านคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร และคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยควรมีการเพิ่มองค์ประกอบของอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพรให้มี PMU ที่ได้รับมอบหมายอยู่ด้วย และเห็นควรให้ PMU ที่เกี่ยวข้องกับด้านสมุนไพรที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รวบรวมข้อมูลร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสถาบันการศึกษาในพื้นที่แทน บพท. โดยอาจจะเชื่อมโยงกับ Regional science park ที่มีอยู่

2.4 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการสื่อสารจัดทำระบบและเครือข่ายการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านสมุนไพรการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในทุกระดับอย่างรอบด้าน  เห็นควรนำชุดตัวอย่างข้อมูลงานวิจัยของขิงมาเป็นตัวอย่างในการจัดทำกรอบการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ  และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์สมุนไพรแห่งชาติกำหนดสมุนไพรเป้าหมายเพื่อใช้ในการสื่อสารข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ

2.5 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาและส่งเสริมวารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้เข้าสู่ฐานข้อมูลวิจัย  มอบหมาย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยกระดับวารสารดังกล่าวให้เข้าสู่ฐานข้อมูลวิจัยระดับสากล