Travel Sport & Soft Power

ชป.ยัน'ปิดจ๊อบส่งน้ำฤดูแล้งรับมือฤดูฝน



กรุงเทพฯ-กรมชลประทาน แถลงข่าว “ปิดจ๊อบส่งน้ำฤดูแล้ง พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 64” หลังการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี63/64 เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้ พร้อมเดินหน้าเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มศักยภาพ เน้นเก็บกักน้ำให้มากที่สุด สำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว “ปิดจ๊อบส่งน้ำฤดูแล้ง พร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนปี 64” ผ่านระบบ VDO Conference โดยมีนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.สุกันยาณี ยะวิญชาญ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้สิ้นสุดของการบริหารจัดการในช่วงฤดูแล้งปี 63/64 (เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย.64) แล้ว ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ณ วันที่ 30 เม.ย. 64 มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 16,717  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ การใช้น้ำต่ำกว่าแผนวางไว้ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 5,000 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งผันมาจากลุ่มน้ำแม่กลอง 500 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,892 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 98 ของแผนฯ ภาพรวมผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากมีฝนตกบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อน  ส่งผลให้การใช้น้ำจากเขื่อนลดลง ที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในการนำน้ำจากแหล่งธรรมชาติในพื้นที่ของตน อาทิ บ่อยืม หนอง และบึงต่างๆ มาใช้ในการเพาะปลูก ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนและเพียงพอ

สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 5.95 ล้านไร่(แผนวางไว้ 2.45 ล้านไร่) แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.90 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.55 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 2.79 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.593 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก

ทั้งนี้ ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างปราณีตและรัดกุม  โดยจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ ยังได้เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ 56 จังหวัด 139 อำเภอ 220 ตำบล 344 หมู่บ้าน ด้วยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 47 คัน คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 12.67 ล้านลิตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 433 เครื่อง แบ่งเป็นการสูบน้ำช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภคและการเกษตร คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 160 ล้าน ลบ.ม. และยังมีเครื่องจักรกลอื่นๆอีก 133 หน่วย ที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือ รวมไปถึงการซ่อม/สร้างทำนบ/ฝาย รวม 36 แห่ง และการขุดลอกแหล่งน้ำอีก 34 แห่งด้วย

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ ในการดำเนินงานปรับปรุงซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบชลประทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 63,088 รายแล้ว เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมชลประทาน 1460

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 64 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 36,442 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 39,626 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,961 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,265 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำรวมกันได้อีกประมาณ 15,910 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการบริหารจัดการน้ำและการรับมือฤดูฝนปี 2564 นั้น ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักหลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการและมีฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคน และกำหนดเครื่องจักรเครื่องมือกว่า 5,935 หน่วย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมกำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง 437 แห่ง และอาคารชลประทานทั่วประเทศอีก 1,806 แห่ง ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและคูคลองต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) โดยพิจารณาปรับลดการระบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา พร้อมกับใช้อาคารชลประทานในการจัดการจราจรน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำรวมทั้งการแจ้งเตือนต่างๆ ไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือน้ำล้นตลิ่ง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา