In Thailand

นายกฯห่วงใยปัญหาน้ำเค็มคลองประเวศ ศูนย์บก.ฉุกเฉินเกษตรขยับน้ำเค็มเริ่มจืด



ฉะเชิงเทรา-นายกรัฐมนตรีห่วงปัญหาน้ำเค็มรุกคลองประเวศ ขณะศูนย์บัญชาการฉุกเฉินกระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าสางปัญหาในทุกมิติ ทำทุกหน่วยงานประสานมือกันพร้อมเพียง ล่าสุดระดับความเค็มลดลงแล้ว ส่วนปัญหาด้านอาชีพและน้ำดื่มน้ำใช้อุปโภคตลอดจนระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม มีการประชุมแจกงานแบ่งกันออกไปทำจนครบถ้วนหน้าทุกกรมแล้ว เชื่ออีก 7 วันเห็นผลชัด 

วันที่ 19 เม.ย.67 เวลา 13.45 น. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้ตรวจการกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วยผู้ตรวจการและรองอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มไหลทะลักเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 2 จังหวัดทั้งสมุทรปราการและ จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากเขื่อนทำนบดินปิดกั้นสกัดน้ำเค็มที่บริเวณปากคลองประเวศ (ประตูน้ำท่าถั่ว) พังทลายลงเมื่อวันที่ 9 เม.ย.67 เวลา 19.30 น. ที่ผ่านมา

ซึ่งในที่ประชุมนำโดย ดร.ทวีศักดิ์ ได้กล่าวว่า หลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้ลงพื้นที่มาเมื่อวาน และสั่งการให้ตั้งศูนย์บัญชาการฉุกเฉินกระทรวงเกษตรขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นรอบด้านในทุกมิติ พร้อมกำชับว่าหากสิ่งใดที่ทำไปแล้วไม่ตรงเป้าให้ปรับแผนเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็น โดยเมื่อวาน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการคลัง ได้มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโทรศัพท์ประสานมายัง รมว.เกษตรฯ ในขณะกำลังลงพื้นที่

ล่าสุดจากการติดตามการแก้ไขปัญหาและการรายงานสถานการณ์น้ำวันนี้ มีแนวโน้มคุณภาพดีขึ้น มาก จากระดับความเค็มที่ 20 กว่ากรัมต่อลิตรในคลองประเวศบุรีรมย์ช่วงต้นลดลงเหลือเพียง 6-7 กรัมต่อลิตร โดยยังเหลือเพียงแค่บางจุดเท่านั้นที่ค่าความเค็มยังสูงเกินกว่า 20 กรัมต่อลิตร ส่วนการบริหารจัดการน้ำที่จะส่งลงมาช่วยนั้น ขณะนี้ได้นำน้ำในคลองเปรมประชากรที่สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ที่อยู่ใกล้ที่สุดและเดินทางมาได้ไวที่สุดเข้ามาก่อนโดยเป็นน้ำที่มีค่าความเค็มอยู่ที่ 0.3 กรัมต่อลิตร

 จากเดิมเคยสูบที่ 18 คิวต่อวินาทีได้เพิ่มเป็น 30 คิวต่อวินาที และส่งเข้ามาทางคลองรังสิต เพื่อรอน้ำจากเขื่อนภูมิพลทางด้านบนที่จะส่งมาทาง จ.ชัยนาท เส้นทางชัยนาท-ป่าสัก ลงมายังคลองระพีพัฒน์อีกทางหนึ่งเข้ามายังคลองพระองค์ไชยานุชิต นอกนี้ยังมีน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชลที่จะส่งมาทางบึงฝรั่งอีก 3 ล้าน ลบม. เพื่อมาช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำเค็มและทำให้ระบบนิเวศในลำคลองประเวศและสาขากลับสู่ภาวะปกติ

    จึงทำให้น้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ในขณะนี้มีค่าต่ำกว่า 10 แล้ว ยกเว้นบริเวณใกล้กับแม่น้ำบางปะกง ที่ยังอยู่ที่ระดับ 10 กว่ากรัมต่อลิตร โดยคาดว่าไม่เกิน 7 วันคุณภาพน้ำต้องดีขึ้น ส่วนน้ำในคลองเปรงยังมีความเค็มอยู่ที่ 4-5 กรัมต่อลิตร ซึ่งจะมีการประเมินว่าการเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละชนิดนั้น จะใช้น้ำที่ค่าเท่าไหร่ เช่น ปลากะพง ใช้ความเค็ม 10 กรัมต่อลิตร กุ้ง 5 กรัมต่อลิตร การปลูกพืชใช้ไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร 

โดยจะมีการรวบรวมทำบัญชีมาจากทางประมงว่าแต่ละคลองมีการทำประมงประเภทใดบ้าง เพื่อให้ทางชลประทานนำน้ำไปเจือจาง ส่วนการบำบัดน้ำเสีย ให้ชลประทานจัดเก็บวัชพืชที่เน่าตาย จะให้กรมประมง กรมพัฒนาที่ดินมาให้สารบำบัดน้ำเสีย สำหรับน้ำอุปโภคบริโภคให้ ปภ.เป็นหน่วยงานกลางสำรวจรับน้ำ และแจ้งความต้องการใช้น้ำว่าใช้วันละเท่าใด ทางกรมชลประทานจะส่งรถน้ำไปช่วย โดยมีน้ำที่ได้รับจากการประปาส่วนภูมิภาคเขต 1 ชลบุรีมาแจกจ่าย

ส่วนในภาคประมงนั้นจะใช้คลองพระองค์ไชยานุชิตเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ได้รับมา เพื่อใช้ทั้งด้านการบำบัดและการประมง ขณะที่การสูบระบายน้ำเค็มออกจากคลองประเวศ และคลองสาขานั้น ขณะนี้ได้ทำการติดตั้งเสริมเครื่องสูบน้ำที่สถานีระบายน้ำที่มีอยู่ ทั้งที่ประตูระบายน้ำท่าถั่ว ประตูคลองลาดขวาง คลองจางวาง และคลองแสนภูดาษ แห่งละ 2-3 เครื่อง โดยที่สถานีสูบน้ำทางตอนล่างใกล้แนวชายทะเล เช่น สถานีสูบน้ำนางหงษ์ สถานีสูบน้ำพระยาวิสูตร สถานีสูบน้ำเทพรังสรรค์ ได้มีการเดินเครื่องสูบน้ำเค็มออกสู่อ่าวไทยแล้ว ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาภายในศูนย์บัญชาการฉุกเฉินแห่งนี้จาก รมว.เกษตรฯ ในฐานะผู้รู้บริบทด้านอาชีพของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้าน ได้กล่าวถึงความห่วงใยในการแก้ไขปัญหาด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นในที่ประชุมด้วยว่า ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่รู้ข้อมูลข่าวสาร โดยมีบางรายได้มีการสูบเก็บน้ำเค็มไว้เป็นน้ำใช้เนื่องจากเข้าใจผิด

ขณะเดียวกันในพื้นที่ ต.คลองเปรง อ.เมือง ฉะเชิงเทรา นั้น ไม่มีโครงการประปาหมู่บ้านจึงต้องใช้น้ำคลองในการอุปโภคบริโภค จึงเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านน้ำอุปโภคบริโภคอย่างหนักมากกว่าในพื้นที่ตำบลอื่นจึงเกรงว่าการแจกจ่ายน้ำอาจไม่ทั่วถึง ขณะเดียวกันทางจังหวัดยังไม่ได้มีการประกาศให้พื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นเขตภัยพิบัติ แต่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย จึงยังทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถนำงบประมาณออกมาช่วยเหลือได้ 

แต่ได้มี อปท.บางแห่ง ได้นำเงินออกมาใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนไปก่อนหน้าแล้ว จึงเกรงว่าจะถูก สตง.ตรวจสอบในภายหลัง และในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานั้น ทางปะมงจะเข้าไปช่วยเหลือเติมน้ำในบ่อปลาได้อย่างไร นางฐิติมา กล่าวในที่ประชุม ก่อนที่การประชุมจะสิ้นสุดลงในเวลา 15.40 น. 

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา