In Bangkok
กทม.เดินหน้าตอกเสาเข็มโรงไฟฟ้าขยะ ลดปริมาณฝังกลบศูนย์กำจัดหนองแขม
กรุงเทพฯ-เดินหน้าตอกเสาเข็มโรงกำจัดมูลฝอยผลิตพลังงานไฟฟ้า ลดปริมาณการฝังกลบศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม
(20 เม.ย.67) เวลา 09.15 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการกําจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม
โครงการกําจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม พื้นที่ 30 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มดำเนินการก่อสร้างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สิ้นสุดการก่อสร้างวันที่ 4 พฤศจิกายน 2569 ระยะเวลาก่อสร้าง 1,000 วัน ซึ่งกรุงเทพมหานคร กำหนดแผนพัฒนาการกำจัดขยะ โดยการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน เพื่อลดปริมาณการกำจัดขยะด้วยวิธีการฝังกลบ ในรูปแบบของโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน โดยขยะมูลฝอยจะถูกจัดเก็บและนำมาเทในบ่อรับขยะภายในอาคารระบบปิด 3-5 วัน เพื่อให้ความชื้นลดลง 35% จากนั้นจะใช้เครนคีบขยะเข้าสู่เตาเผาแบบตะกรับ หรือ Stoker Type ควบคุมความร้อนให้คงที่ประมาณ 850-1,1000 องศาเซลเซียส โดยนำความร้อนไปต้มน้ำเกิดเป็นไอน้ำแรงดันสูงผ่านตัวขับเคลื่อน (Turbine) เปลี่ยนพลังงานกลให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กำลังผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ โดยบริษัทผู้รับจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุนและการบริหารโครงการตั้งแต่ออกแบบ ก่อสร้าง พร้อมติดตั้งเครื่องจักร และเดินระบบกำจัดมูลฝอยเป็นระยะเวลา 20 ปี
ปัจจุบันโครงการกําจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน/วัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ความคืบหน้างานสะสมตามแผนงาน 6.28% ความคืบหน้างานสะสมที่ทำได้จริง 6.32% ประกอบด้วย ติดตั้งป้ายหน้าโครงการ งานปรับระดับพื้นที่โครงการ เทพื้นคอนกรีตบ่อล้างล้อด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ ติดตั้งกำแพงเสียง ก่อสร้างถนนชั่วคราว ก่อสร้างสำนักงานสนาม เสาเข็มดำเนินการผลิตและส่งเข้าไซต์งาน งานตอกเสาเข็ม ติตตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำและรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นถนน เพื่อป้องกันและลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้บริษัทผู้รับจ้างปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด สำนักสิ่งแวดล้อมติดตามโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา
ในการนี้มี นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นายอาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม และบริษัทผู้รับจ้าง ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล