In Bangkok
กทม.ร่วมตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วไหล ในโรงงานย่านจอมทองเฝ้าระวังอากาศ-น้ำ
กรุงเทพฯ-ผอ.เขตจอมทอง กทม. ร่วมตรวจสอบเหตุสารเคมีรั่วไหลในโรงงานย่านจอมทอง พร้อมเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ-น้ำบริเวณใกล้เคียง
นายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผู้อำนวยการเขตจอมทอง กทม. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเหตุสารเคมีรั่วไหลภายในโรงงานแห่งหนึ่ง ซอยพระราม 2 ซอย 20 (ซอยจันทร์พริ้ง) ถนนพระรามที่ 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตจอมทอง ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุสารเคมีรั่วไหล ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักอนามัย และศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร พบว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นสถานประกอบกิจการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ โดยสารเคมีที่รั่วไหล คือ THIOUREA DIOXIDE ใช้บำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมกระดาษ สารเคมีมีลักษณะเป็นผลึกผงสีขาว ขนาดบรรจุถังละ 50 กิโลกรัม จำนวน 23 ถัง คุณสมบัติของสารเคมี มีฤทธิ์เป็นกรด มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง เมื่อเกิดการรั่วไหลออกจากภาชนะบรรจุ จะทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้น้ำเร่งปฏิกิริยาของสารเคมีและนำถังบรรจุสารเคมีที่รั่วไหลออกมาไว้ด้านนอกอาคาร เพื่อรอการจัดเก็บไปทำลายอย่างถูกวิธี
สำหรับการตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยตรวจวัดค่าก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ บริเวณภายในและภายนอกสถานประกอบการรัศมี 100 เมตร ผลการตรวจวัดไม่พบก๊าซทั้ง 2 ชนิด รวมถึงตรวจวัดคุณภาพน้ำจากบ่อพักน้ำที่อยู่ภายในโรงงานทั้งหมด 3 จุด พารามิเตอร์ที่ตรวจ ได้แก่ ค่า pH, BOD, COD, ไนเตรท และไนไตรท์ ขณะเดียวกันได้เก็บตัวอย่างน้ำ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ รอผลการตรวจวัดประมาณ 10-15 วัน นอกจากนั้น ได้สำรวจข้อมูลประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
ในเบื้องต้นได้กำหนดมาตรการให้สถานประกอบการดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดเก็บกากของเสียของสารเคมีที่รั่วไหลภายใน 7 วัน (2) ดูแลช่วยเหลือประชาชนใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบจากสารเคมีรั่วไหล (3) แจ้งมาตรการ หรือแผนปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสถานประกอบการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสารเคมี และ (4) จัดทำแผนการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสถานประกอบการ ทั้งนี้ ให้สถานประกอบการแจ้งผลการดำเนินการทั้งหมดให้สำนักงานเขตฯ ทราบภายใน 7 วัน
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ร่วมกับสำนักงานเขตจอมทอง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อากาศและน้ำ บริเวณภายในสถานประกอบการ และภายนอกสถานประกอบการ รัศมี 100 เมตร โดยมีผลการตรวจสอบ ดังนี้ คุณภาพอากาศ ตรวจไม่พบก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของไทโอยูเรียไดออกไซด์ ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศต่อไป คุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจคุณภาพน้ำในเบื้องต้น โดยวิเคราะห์ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ (pH) ผลการวิเคราะห์ได้ค่า pH=7 ซึ่งมีความเป็นกลาง พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทราบผลการวิเคราะห์ภายใน 15 วัน ส่วนการเคลื่อนย้ายสารเคมีดังกล่าวไปจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย สำนักงานเขตจอมทองได้สั่งการให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายกากสารเคมีไปกำจัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายใน 7 วัน พร้อมให้รายงานผลการเคลื่อนย้ายให้สำนักงานเขตทราบ
ขณะเดียวกันศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร จะตรวจคัดกรอง ดูแล และช่วยเหลือประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว) ส่วนการติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะนำรถตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ และกรมควบคุมมลพิษได้เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณภายในและภายนอกสถานประกอบการไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว จะทราบผลการวิเคราะห์ภายใน 15 วัน
นอกจากนี้ สนอ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการและตอบโต้อุบัติภัยสารเคมี โดยบูรณาการกับหน่วยงานภายใน ได้แก่ สำนักงานเขต และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมทั้งหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจแนะนำความปลอดภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบกิจการที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การขนส่ง และการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สนอ. ได้กำหนดแผนการลงตรวจสถานประกอบการดังกล่าวระหว่างวันที่ 15 พ.ค. - 31 ก.ค. 67
ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันอันตรายและแผนเผชิญเหตุป้องกันสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายระดับกรุงเทพมหานคร ระดับเขต จัดอบรมการตอบโต้เหตุฉุกเฉินสารเคมีและวัตถุอันตราย สั่งการให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการของ กทม.จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับเขตและฝึกซ้อมแผนของหน่วยงาน และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์วิธีดูแลและป้องกันตนเอง รวมถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และสำนักอนามัย รวมทั้งประสานสำนักงานเขตให้เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์วิธีดูแลและป้องกันตนเอง รวมถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจากเหตุดังกล่าวให้กับประชาชนได้รับทราบ
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดชุดปฏิบัติการตอบโต้สารเคมีและวัตถุอันตราย พร้อมรถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตรายเข้าระงับเหตุสารเคมีรั่วไหลภายในบริษัทประกอบกิจการจำหน่ายเคมีภัณฑ์ โดยลักษณะที่เกิดเหตุเป็นโกดังชั้นเดียว จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า เป็นเป็นสารอินทรีย์ที่มีกำมะถัน หรือออร์กาโนซัลเฟอร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเคมีไทโอยูเรีย (กลุ่มของสารเคมีที่มีโครงสร้างทั่วไปในทางการเกษตร) เจ้าหน้าที่ได้เก็บกู้เรียบร้อยและนำถังที่เกิดการรั่วไหลออกจากอาคารและนำมาไว้บริเวณลานด้านนอกอาคาร พร้อมทั้งอุดท่อระบายน้ำของโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และปิดกั้นพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อรอการขนย้ายและจัดเก็บต่อไป โดยมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นสาเหตุสารเคมีรั่วไหลเกิดจากการสะสมความร้อน ทำให้เกิดแรงดันภายในถังและมีการรั่วไหลของสารเคมีดังกล่าว ในที่เกิดเหตุไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเหตุเกี่ยวกับสารเคมี หรือวัตถุอันตราย สามารถแจ้งผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง