In News

'ดีอี'เตือนข่าวปลอมรัฐบาลช่วยผู้ใช้ไฟฟ้า ใบแจ้งค่าไฟตั้งแต่เม.ย.-ก.ค.67อย่าแชร์!



กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ติดท็อป 2 อันดับแรก ที่ประชาชนให้ความสนใจสูง อันดับที่ 1 “นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย. - ก.ค. 67” รองลงมาเป็น “SMS แจ้งการถอดมิเตอร์

ดีอี เตือนข่าวปลอม นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย. - ก.ค. 67 วอนอย่าแชร์!!!

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ติดท็อป 2 อันดับแรก ที่ประชาชนให้ความสนใจสูง อันดับที่ 1 “นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน เม.ย. - ก.ค. 67” รองลงมาเป็น “SMS แจ้งการถอดมิเตอร์ เนื่องจากผู้ใช้ไฟค้างชำระค่าไฟ หากชำระแล้วยืนยันหลักฐาน” ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ กล่าวถึง ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 19 - 25 เมษายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,196,893 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 160 ข้อความ ทั้งนี้ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 139 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 21 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 141 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 89 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 79 เรื่อง อาทิ นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำ เดือนเมษายน - กรกฎาคม ปี 67 เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 19 เรื่อง 

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง 

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 10 เรื่อง อาทิ เงินบาทนำไปแลกเป็นเงินดิจิทัล และแลกกลับไปเป็นเงินบาท ส่วนต่าง 3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 16 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง นโยบายรัฐบาลช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเม.ย. - ก.ค. 67

อันดับที่ 2 : เรื่อง SMS แจ้งการถอดมิเตอร์ เนื่องจากผู้ใช้ไฟค้างชำระค่าไฟ หากชำระแล้วยืนยันหลักฐาน

อันดับที่ 3 : เรื่อง เส้นเลือดขอดเป็นสัญญาณเสี่ยงโรคหัวใจและเส้นเลือดตีบตัน

อันดับที่ 4 : เรื่อง สูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ได้

อันดับที่ 5 : เรื่อง ท่าบริหารมือ 200 ครั้งต่อวัน ป้องกันหลอดเลือดอุดตันได้

อันดับที่ 6 : เรื่อง กรมขนส่งทางบกรับทำใบขับขี่และต่ออายุออนไลน์ทางเพจ Department of Transport4

อันดับที่ 7 : เรื่อง AOT รับสมัคร พนง. จองตั๋วเครื่องบิน ติดต่อเพจ Chiang Mai International Airport-CNX

อันดับที่ 8 : เรื่อง ลงทะเบียนทำใบขับขี่ออนไลน์กับกรมการขนส่งทางบกผ่านเพจ จัดทำ ออกใบขับขี่ โดยตรงจาก DLT

อันดับที่ 9 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัครงาน ผ่านเพจ Create income from handicrafts รายได้ต่อวัน 800-1,350 บาท

อันดับที่ 10 : เรื่อง เล็บเหลืองเป็นสัญญาณเตือนของโรคเบาหวาน โรคปอด และโรคไทรอยด์

 

“ทั้งนี้ ดีอี มีความห่วงใยประชาชนในเรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์/โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน และมีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม ดังกล่าว โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง”