In News

อุดรฯสร้าง'หมอพร้อมอุดร'จองฉีดวัคซีน



อุดรธานี-ผวจ.อุดรฯ สั่งสร้าง“หมอพร้อมอุดร” ให้ประชาชนสามารถจองฉีดวัคซีนง่ายขึ้น


วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา11.00 น. ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ชั้ย 5 อาคาร 1 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เชิญประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี , ภาคเอกชน หอการค้า , สภาอุตสาหกรรม , สมาคมอุตสาหกรรมธุรกิจท่องเที่ยว และทีมงานอุดรธานีปลอดภัย เพื่อร่วมประชุมหารือปรับแนวทาง การจองและฉีดวัคซีน ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 

นพ.สุมน ตั้งสุนทรวิรัตน์ รอง ผอ.รพ.ศูนย์อุดรธานี เสนอว่า ช่วงเดือนนี้จะมีวัดซีน “ซิโนแวค” เข้ามาจากต่างประเทศ จนเดือนหน้าจะเป็น “แอสตราเซเนกา” อุดรธานีน่าจะปรับเพิ่มเป้าหมาย จากเดิมคือผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรค มาเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้ความต้องการฉีด ขณะที่แจ้งยอดการจองวัคซีน ต้องการข้อมูลไม่มากนัก ต่างจากการจองผ่าน “หมอพร้อม” ที่ต้องการรายละเอียดมาก เพื่อส่งข้อมูลจองวัคซีนได้ทัน น่าจะใช้ข้อมูลเบื้องต้นก่อน จึงจะลงรายละเอียดภายหลัง  

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวสรุปว่า อุดรธานีจะไม่ย้อนกลับไป ชี้แจงหรือตอบคำถามข่าวสาร ข่าวลือต่าง ๆ แต่เราจะเดินหน้าให้ถึงเป้าหมาย คือ การลงทะเบียนจอง และฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ , กลุ่มหน่วยงานภาคเอกชน และกลุ่มหน่วยงานในพื้นที่ ด้วยการปรับลดขั้นตอนจองวัคซีน ขอให้ทีมงานอุดรปลอดภัย สร้างแอพพิเคชั่นของอุดรธานี “หมอพร้อมอุดรธานี” ที่กรอกข้อมูลเบื้องต้นผู้จอง เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมาย คือคนที่ต้องการฉีดวัคซีนมาก่อน แล้วมาเพิ่มเติมรายละเอียดภายหลัง  

วันนี้อุดรธานีตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 5 ราย ทำให้ยอดสะสมเป็น 399 ราย หายกลับบ้าน 325 ราย รักษาตัวอยู่ 72 ราย เสียชีวิต 2 ราย (เท่าเดิม) โดยรักษาตัวที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี 38 ราย  ใช้เครื่องช่วยหายใจ 7 ราย , รพ.สนาม 15 ราย ที่เหลือกระจายอยู่ รพ.ชุมชนอำเภอ ผลการสอบสวนควบคุมโรค รายที่ 390-398 เป็นผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ 1 ราย ที่เหลือ 8 ราย เป็นผู้สัมผัสเสียงสูงภายในจังหวัด และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 62 ราย ที่ต้องนำมาตรวจหาเชื้อ และกักตัว 14 วัน

นายอุเทน หาแก้ว รอง ผอ.สสจ.อุดรธานี  เปิดเผยว่า อุดรธานี กำหนดหน่วยรับผิดชอบฉีดวัคซีน ในพื้นที่ อ.เมือง จะเป็น รพ.ศูนย์อุดรธานี  , รพ.ค่ายประจักษ์ฯ , รพ.กองบิน 23 และ รพ.เทศบาลนครอุดรธานี โดย รพ.ใช้อาคารกิจกรรมนักศึกษา มรภ.อุดรธานี เป็นสถานที่ฉีดวัคซีน มีศักยภาพสูงถึงวันละ 4,000 คน ส่วนโรงพยาบาลอื่นใช้สถานที่ตนเอง ขณะที่ต่างอำเภอ จะใช้โรงพยาบาลชุมชนในอำเภอนั้น ๆ ศักยภาพฉีดได้วันละ 750 คน  สำหรับกลุ่มเป้าหมาย มิ.ย.นี้ เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรง รวม 384,809 ราย แต่ลงทะเบียนจองผ่านหมอพร้อม 7,305 ราย ผ่าน จนท. 3,616 ราย รวมเพียง 10,921 ราย เท่านั้น

ปัญหาที่ทำให้การลงทะเบียนจองน้อย ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงการตื่นกลัว จากข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ ยังมีปัญหาจาก ผู้สูงอายุไม่สะดวกลงทะเบียน ทั้งไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือมีแล้วทำไม่เป็น , ตัวของแอพหมอพร้อม หรือไลน์หมอพร้อม มีคำถามจำนวนมากที่ต้องตอบ ซึ่งบางคำถามไม่เข้าใจ หรือหาคำตอบไม่ได้ , ผู้ลงทะเบียนหมอพร้อมดำเนินการต่อไม่ได้ ซึ่งผู้ร่วมประชุมบางคนก็มีปัญหา ต้องขอให้คนอื่นดำเนินการให้ ขณะที่สื่อมวลชนบางคนก็ลงทะเบียนไม่ได้ โดยไม่สามารรถดำเนินการต่อ เมื่อรับแจ้งว่าข้อมูลผิดพลาด แม้จะพยายามลงหลายครั้งก็ลงทะเบียนไม่ได้  

สนง.สาธารณสุข จ.อุดรธานี ได้สร้างคิวอาร์โค้ด “หมายเลขโทรศัพท์สำหรับจองวัคซีน ป้องกันโควิด-19 จ.อุดรธานี” เมื่อสแกนเข้าไปแล้ว จะพบหมายเลขโทรศัพท์ของ รพ.ของรัฐ และ รพ.สต. ใน จ.อุดรธานี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ต้องการจองฉีดวัคซีน สามารถโทรศัพท์เข้าไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ เพื่อลงทะเบียนจองวัคซีน จะฉีดที่ไหน วันเวลาไหน ซึ่งยังมีปัญหาผู้โทรฯมาจองจะต้องใช้เวลา สอบถามรายละเอียด การให้บริการจึงไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

 

นายเพชร  สาเจริญ อายุ 77 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 119 หมู่ 9 ซ.บ้านคลองเจริญ  เขตเทศบาลนครอุดรธานี ประธานชุมชนคลองเจริญ บอกว่า ในเรื่องของการฉีดวัคซีน นี้ ตนตัดสินใจทันที่ เพราะตนเป็นผู้นำชุมชน จึงอยากทำตัวเป็นตัวอย่าง เรื่องสิ่งที่มีบวกและลบ ก็เป็นเรื่องของคนที่จะพูดกันไป สำหรับตนไม่คิดมากตนสบายใจ ถึงตนจะมีโรคประจำตัวหลายโรค ได้แก่ โรคความดัน เบาหวาน โรคชรา โรคหัวใจ โรคไต ตนก็ไม่กังวล สิ่งสุกท้ายที่จะเป็นบทสรุปให้ตนก็คือหมอที่จะมีการตรวจและให้รายละเอียดก่อนที่ตนจะฉีด สิ่งนี้ที่ทำให้ตนไม่คิดมาก ในส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์เรื่องการฉีดวัคซีน ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี ตนคิดว่าทั่วถึง แต่คนจะสนใจ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่อาจจะแตกต่างจากต่างอำเภอบ้าง  เพราะบ้านเรือนติดกัน ข่าวสารก็ทั่วถึงโดยการลงทะเบียนของตนไม่ได้ใช้ระบบแอปหมอพร้อม ซึ่งใช้การให้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ออกสำรวจในชุมชน  เพราะตนทำในระบบไม่เป็น เพราะคนแก่หลายคนก็ทำไม่เป็นเช่นกัน แต่ทางรัฐบาลก็มีการให้ศูนย์สุขภาพชุมชนได้ให้เจ้าหน้าที่เดินสำรวจตามบ้านเพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนครั้งนี้

นางสุพัตรา หลาบเงิน อายุ 66 ปี  อยู่บ้านเลขที่ 175 หมู่ 9 ซ.บ้านคลองเจริญ  เขตเทศบาลนครอุดรธานี  ซึ่งเป็น อ.ส.ม.  บอกว่าหลังจากที่มีการให้ออกสำรวจผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนในช่วงแรก นั้นตนก็ได้ลงทะเบียนเพื่อต้องการฉีดวัคซีน  เพราะตนทำหน้าที่เป็นอ.ส.ม.ทำหน้าที่อยู่แล้ว อีกทั้งตนก็มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน ตนก็ไม่กลัว ถ้าไม่ดีก็คงจะไม่เอามาฉีดให้กับประชาชน ซึ่งตนก็ยินยอมที่จะฉีด แต่ยังไม่ได้ฉีด เพราะอายุเกินกำหนดยังไม่ถึงคิวฉีด น้องสาวที่เป็นพยาบาลก็ฉีด ครอบครัวก็ไม่ได้คัดค้านอะไร  เพราะเราต้องการวัคซีนที่ดีที่จะมาฉีดเรา ตนก็อยากให้ทุกคนมั่นใจว่า ถ้าเราได้ฉีดวัคฉีดก็จะไม่ตาย

แต่ตนก็ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเรื่องของการลงทะเบียนฉีดวัคซีน ตามสิ่งต่างๆ ในเรื่องของการลงทะเบียนฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค  ตนก็รู้สึกกลัว เพราะมีโรคประจำตัว พอฟังข่าวแล้วก็ไม่อยากฉีด ตนได้ลงทะเบียนในแบบสอบถามไปว่าไม่ประสงค์จะรับวัคซีน  เพราะอายุมากแล้ว และมีความดัน ดูข่าวว่าคนมีโรคประจำตัวจะมีผลกระทบ ตนจึงยังไม่ฉีด แต่ก็ไม่แน่ อาจจะช่วงท้ายก็จะลงทะเบียนฉีด ซึ่งใจก็อยากจะฉีด แต่ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ จึงไม่อยากฉีดเพราะไม่อยากเสี่ยง

กฤษดา  จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี