In Bangkok
กทม.ตั้งเป้าปรับทางเท้าตามมาตรฐานใหม่ 76เส้นทางภายในปี2568
กรุงเทพฯ-นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงทางเท้าให้สามารถสัญจรได้สะดวก ปลอดภัย เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่มว่า สนย. ได้กำหนดแบบมาตรฐานงานทางล่าสุดเมื่อปี 2565 ซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิด Universal Design เอื้อต่อประชาชนทุกเพศทุกวัยให้เข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างเท่าเทียมกันและทำให้ทางเท้ามีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น มีความแตกต่างของมาตรฐานทางเท้าใหม่ฯ โดยเปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่องและสะดวกสบาย ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้าเป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย รวมถึงวางแนวทางการ จัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า การวางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาและปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น
ทั้งนี้ สนย. มีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าตามมาตรฐานใหม่ 76 เส้นทางภายในปี 2568 โดยในระยะแรกตั้งเป้าหมายไว้ 1,000 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งการทำใหม่ทั้งเส้นทาง การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยยึด 5 แนวทางในการพัฒนาปรับปรุงทางเท้า ดังนี้ (1) แก้ไขตามประเด็นเรื่องร้องเรียนใน Traffy Fondue (2) พัฒนาปรับปรุงตามแนว BKK Trail 500 กิโลเมตร (3) ภายในรัศมี 500 เมตรรอบสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้าต้องดี (4) ปรับปรุงในเส้นทางที่มีคนสัญจรหนาแน่นตามข้อมูล Heatmap ที่เก็บได้นอกเหนือจากรัศมีรถไฟฟ้า และ (5) คืนสภาพจากหน่วยงานสาธารณูปโภค โดยติดตามเร่งรัดการจัดการสาธารณูปโภคที่ทำให้เกิดผลกับพื้นผิวจราจรและทางเท้า เช่น ประปา ไฟฟ้า และการนำสายไฟลงดิน ตลอดจนการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุดในเบื้องต้น กทม. จะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วย BEST) ออกดำเนินการซ่อมแซมชั่วคราวให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนใช้งานได้อย่างปลอดภัย