In Bangkok
กทม.กวดขันมาตรการด้านสุขอนามัยผู้ค้า ย่านสีลม-ลงพื้นที่ติดตามแผงทางเท้า
กรุงเทพฯ-นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าบริเวณถนนสีลม โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยของร้านค้า ตามที่มีข้อวิจารณ์ร้านข้าวเกรียบทอดแห่งหนึ่ง สภาพร้านหลังทำการค้าบริเวณรอบพื้นที่สกปรกไม่เป็นระเบียบว่า สนอ. ได้ประสานสำนักงานเขตบางรัก เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นทราบว่า ร้านดังกล่าวเป็นแผงลอยจำหน่ายอาหาร ตั้งอยู่นอกจุดทำการค้าตามประกาศ กทม. ว่าด้วยการกำหนดให้ที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้า ทั้งนี้ ได้ขอให้สำนักงานเขตฯ เพิ่มความเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าบริเวณถนนสีลม โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยของแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี
ปัจจุบัน กทม. ได้กำหนดพื้นที่ทำการค้า จำนวน 55 จุด โดยความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานจราจรในพื้นที่ 14 เขต ได้แก่ เขตคลองสาน เขตดุสิต เขตดอนเมือง เขตธนบุรี เขตบางขุนเทียน เขตบางคอแหลม เขตบางซื่อ เขตบางนา เขตประเวศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตพระนคร เขตลาดพร้าว และเขตสัมพันธวงศ์ ตามประกาศ กทม. เรื่อง กำหนดให้ที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทำการค้าฯ ซึ่ง สนอ. ร่วมกับสำนักงานเขตฯ พัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี ตามโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขมีการพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. กำหนดเป้าหมายดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ร้อยละ 100 พร้อมทั้งจัดทำแผนและลงพื้นที่ตรวจประเมินติดตามกำกับมาตรฐานแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.-30 พ.ค. 67 โดย สนอ. จะแจ้งผลตรวจประเมิน ให้สำนักงานเขตทราบ หากกรณีพบข้อบกพร่องขอให้สำนักงานเขตให้คำแนะนำผู้ค้า เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง พร้อมติดตามกวดขันผู้ค้าแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม. อย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ข้อกำหนดหลักเกณฑ์ที่แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีต้องรู้ในรูปแบบอินโฟกราฟิกผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์หน่วยงานของ กทม.
นอกจากนั้น สนอ. ร่วมกับสำนักเทศกิจ จัดทำแผนการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ในพื้นที่ทำการค้าที่ได้รับอนุญาตและได้จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ในพื้นที่ทำการค้า จำนวน 55 จุด ใน 14 สำนักงานเขต เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้การควบคุม กำกับ สุขลักษณะและคุณภาพอาหารของการจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สนอ. จะแจ้งแผนการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีของ กทม. ให้สำนักงานเขตนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานเขตตามแผนการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป