Health & Beauty

SANOFI-SCGC-Cirplasเปิดโครงการ ชวนผู้ป่วยเบาหวาน‘เช็ก-ถอด-ทิ้ง’ 



กรุงเทพ – 10 พฤษภาคม 2567 : บริษัทซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด (SANOFI) บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมสุขภาพระดับโลก  บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนและผู้เชี่ยวชาญด้าน Green Polymer บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด (Cirplas) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร พร้อมด้วยโรงพยาบาล ตลอดจนพันธมิตรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเปิดตัวโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน” เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมพฤติกรรม ‘เช็ก ถอด ทิ้ง’ รณรงค์ให้ผู้ป่วยเบาหวานส่งคืนปากกาอินซูลินใช้แล้ว เริ่มนำร่องใน 6 โรงพยาบาลชั้นนำ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

นางสาวดาราวรรณ ลุยะพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจยา General Medicines ซาโนฟี่ ประเทศไทย กล่าวว่า “ซาโนฟี่มุ่งเน้นเรื่องค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรมยาและวัคซีน เพื่อป้องกันและรักษาผู้คนจากการเจ็บป่วย เราเปิดดำเนินการในไทยมาอย่างยาวนานและทำงานกับประชาคมเบาหวานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ตลอดจนการดูแลตัวเอง หรือแม้แต่การใช้อินซูลินให้ถูกวิธี ในจำนวนผู้ป่วยเบาหวานประเทศไทยกว่า 5.2 ล้านคน ใช้ปากกาอินซูลินของซาโนฟี่กว่า 800,000 ด้ามต่อปี เทียบเป็นปริมาณขยะพลาสติกถึง 17 ตัน ซาโนฟี่จึงรณรงค์การแยกเข็ม และจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิล ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน’ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดเก็บและรีไซเคิลปากกาฉีดอินซูลินใช้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยกันบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี สามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มีคุณค่ามากขึ้น”

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCGC เผยว่า “ปากกาอินซูลินใช้แล้ว นับเป็นขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมหาศาล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทุกปี หากทิ้งหรือบริหารจัดการขยะเหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายเชื้อโรคในชุมชน ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน รวมถึงเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม SCGC จึงนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม Green Polymer มารีไซเคิลเปลี่ยนพลาสติกจากปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยี Advanced Recycling สะท้อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง ESG โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการฯ นี้จึงช่วยส่งเสริมการทิ้งขยะทางการแพทย์ในประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคในชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างสุขอนามัยของประชาชนให้ปลอดภัย”

นายทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด กล่าวว่า “Cirplas เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ (start-up) ที่มุ่งเน้นการจัดเก็บ คัดแยก และจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำปากกาอินซูลินใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดย Cirplas จะช่วยสนับสนุนดำเนินการจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้ว คัดแยก รวบรวม เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เราหวังว่าโครงการฯ นี้จะช่วยสร้างความตระหนักในวงกว้าง รวมถึงเป็นแรงจูงใจให้กับสังคมในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนต่อไป”

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เบาหวานจัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมาก ปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคเบาหวานอยู่ประมาณ 5.2 ล้านคน และผู้ป่วยจำนวนหนึ่งใช้ยาฉีดอินซูลินมาช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเมื่อใช้เสร็จแล้วก็จัดว่าเป็นขยะที่ต้องกำจัดให้ถูกวิธี การรณรงค์ ‘เช็ก ถอด ทิ้ง’ โดยตั้งกล่องรับคืนปากกาอินซูลินใช้แล้วในโรงพยาบาล เป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สมาคมฯ เชื่อว่าการผนึกกำลังของทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันลดปัญหาการจัดการขยะและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นับเป็นทางออกที่ดีในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs อีกด้วย”

นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงภัยจากโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน กระทรวงฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program สามารถตอบโจทย์การจัดการขยะอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การรักษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานด้วยอินซูลินนั้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่เคย”

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เสริมว่า “ปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมาก ซึ่งมีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลือเกือบ 90% เป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นมลพิษซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงในดิน ในแหล่งน้ำ กระทบกับคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค สุขภาพสัตว์น้ำ และย้อนกลับมาที่สุขภาพของเราเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะแก่ประชาชน รณรงค์ให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะทางการแพทย์อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ”

“โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นวัตกรรมสุขภาพดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อม แสดงถึงพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน” นางสาวดาราวรรณ กล่าวสรุป