Think In Truth

ล้างบาง...'ยาบ้า'มหาภัยทั้งค้าและทั้งเสพ ติดอันดับทุกชุมชน โดย : ฅนข่าว 2499



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในไทยยังคงท้าทายฝีมือการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐาทวีสิน เป็นอย่างมาก ซึ่งจากผลสำรวจผู้ติดยาเสพติดจะมีอายุน้อยลงทุกปี โดยเฉพาะยาบ้ามียอดตัวเลขฮิตติดอันอันดับ 1มีการค้า-การเสพกันทุกหมู่บ้านและชุมชน

ด้วยปัญหาดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหายาเสพติด

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ได้ยินทุกครั้งในการไปลงพื้นที่ ชาวบ้านประชาชนในหลายชุมชนรู้สึกไม่ปลอดภัย เหตุหนึ่งก็เกิดมาจากการที่ยังเห็นคนที่ติดยาหรือกำลังบำบัดเดินอยู่ในชุมชน

ทั้งนี้โดยนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้หน่วยงานช่วยกันทำงานให้หนักยิ่งขึ้นไปอีกให้สมกับที่เราประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากการปราบปราม ยังขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำงานเพื่อยึดทรัพย์สินคดีเหล่านี้ให้มากขึ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย

นายเศรษฐา กล่าวถึงปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมายเรื่องปริมาณยาบ้า และความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจนในการจับผู้เสพและผู้ค้า ว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยปรับลดให้เหลือ 1 เม็ด แทนที่จะเขียนว่าปริมาณเล็กน้อย เพื่อเป็นหลักการให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำตามได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 

นอกจากนั้น ขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติต้องสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะมียาเสพติดกี่เม็ดก็ผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นผู้เสพ จะถูกแจ้งข้อหาครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงขอฝากถึงพนักงานสอบสวนทํางานให้หนักขึ้น เพื่อดูเจตนาอีกครั้งว่าเป็นผู้เสพ หรือผู้ค้า 

นอกจากเรื่องบาบ้าแล้วนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเรื่องกัญชา ว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ไขประกาศกระทรวง ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดประเภท 5 และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น

สำหรับการบําบัดขอให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ยกระดับประสิทธิภาพงานบําบัดยาเสพติด ทั้งในศูนย์บำบัด เรือนจํา และระบบคุมประพฤติ พร้อมฝากให้ร่วมกันจับผู้ที่หลบหนีการบําบัด หรือบําบัดไม่ผ่านมาดําเนินคดี 

ปัญหายาเสพติดนับว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมที่รุนแรงที่สุดในแต่ละประเทศทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการ รวมถึงนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลรายงาน World Drug Report 2022 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC : United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่าในปี 2563 มีจำนวนประชากรกว่า 284 ล้านคนจากทั่วโลก ในช่วงอายุ 15-64 ปี ที่ติดยาเสพติด ซึ่งคิดเป็น 26% เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสิบปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ติดยาเสพติดมีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เด็กและเยาวชนมีการใช้ยาเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่รวมถึงใช้ในปริมาณที่มากกว่าเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การลักลอบหรือขนส่งยาเสพติดถูกจำกัดด้วยเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นขอบเขตและชายแดน หรือความท้าทายของการขนส่งทางอากาศที่มีความถี่น้อยลง สาเหตุเหล่านี้ทำให้รูปแบบและเส้นทางการค้ายาเสพติดมีความยืดหยุ่นและหลากหลายขึ้นกว่าแต่ก่อน อาทิ การใช้เส้นทางเดินเรือเพื่อลำเลียงยาเสพติด การขนส่งสินค้าด้วยไปรษณีย์ รวมถึงการติดต่อซื้อขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่มากขึ้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในไทยยังคงท้าทาย ยาบ้าขึ้นแท่นยาเสพติดยอดฮิต

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกได้ว่าเป็น ที่ตั้งของตลาดยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีแนวโน้มในการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งพบว่ามีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการลำเลียงขนส่งยาเสพติดให้สอดคล้องกับมาตรการปิดกั้นพื้นที่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการพัฒนาสารเสพติดรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้ยารายใหม่และรายเดิมอีกด้วย

จากข้อมูลรายงานเรื่อง Synthetic Drugs in East and Southeast Asia 2022 (ยาสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2565) ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC : United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่าในพื้นที่แถบแม่น้ำโขงตอนล่างมีปริมาณการจับกุมยาเสพติดชนิดเมทแอมเฟตามีนสูงขึ้นในทุก ๆ ปี โดยในปี 2564 จับกุมได้ในปริมาณกว่า 171.5 ตัน คิดเป็น 89% ของการจับกุมยาเสพติดทั้งหมดในพื้นที่

ทางฝั่งของประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการขยายตัวของยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยพบว่ามีการเคลื่อนย้ายยาเสพติดจากแหล่งผลิตประเทศเมียนมาและนำเข้าผ่านสปป.ลาว ก่อนเข้าสู่ประเทศไทย จึงทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายในพื้นที่ชายแดนที่ติดกับสปป.ลาวได้มากขึ้น ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ตลอดจนจังหวัดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย และมุกดาหาร เป็นต้น

จากปริมาณการลักลอบยาเสพติดที่พบมากขึ้น ส่งผลให้ยาเสพติดถูกส่งต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยอย่างกว้างขวางขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียนับเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อซื้อขายยาเสพติด โดยเฉพาะกับการค้าปลีกซึ่งผู้ขายสามารถติดต่อผู้ซื้อได้โดยตรง รวมถึงสามารถนัดแนะช่องทางการจัดส่งได้หลากหลายรูปแบบ นับเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงยาเสพติดได้อย่างง่ายดาย

จากแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) พบว่าในปีที่ผ่านมามีการจับกุมคดียาเสพติดทั้งหมด 337,186 คดีแบ่งเป็นของกลางยาบ้าจำนวน 555.7 ล้านเม็ด / ยาไอซ์26,662 กิโลกรัม / เฮโรอีน 4,520 กิโลกรัม / เคตามีน 1,350 กิโลกรัม / โคเคน 45 กิโลกรัม / เอ็กซ์ตาซี 447,213 เม็ดและกัญชา 41,573 กิโลกรัม

โดยยาเสพติดที่แพร่หลายมากที่สุดยังคงเป็นยาบ้า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 79.2 ตามมาด้วยยาไอซ์ร้อยละ 8.3 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการที่ราคาของยาเสพติดชนิดดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้เสพเข้าถึงการซื้อได้ง่ายมากขึ้นเมื่อนับรวมจำนวนยาบ้าและยาไอซ์ที่ถูกจับกุมในปีที่ผ่านมาแล้ว นับว่ามีปริมาณมากที่สุดในบรรดาประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นสถิติที่น่ากลัวและเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในการร่วมมือกันปราบปรามปัญหายาเสพติด

ทั้งนี้ รายงานผลการดำเนินงาน ตามแบบบำบัดรักษา ของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ระบุจำนวนผู้ได้รับการรักษาและบำบัดยาเสพติดตลอดปี 2565 มีจำนวนเพียง 114,733 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบกับปริมาณการจับกุมยาเสพติดแล้ว มีผู้เข้ารับการบำบัดจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการจับกุม อีกทั้งยังเป็นจำนวนที่ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการระบาดของยาเสพติดจะลงตามไปด้วย เพียงแต่อาจเป็นเพราะข้อจำกัดในการเข้ารับการบำบัดสืบเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้นเอง

https://img.pptvhd36.com/thumbor/2024/05/08/news-4c59238.jpg

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวเกี่ยวกับเรื่องยาบ้าว่า เดิมทีเจตนารมณ์กฎหมาย ไม่มีเรื่องปริมาณเล็กน้อย โดยกำหนดห้ามครอบครอง 100% แต่เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งร่างกฎหมายใหม่ให้กฤษฎีกา ก็ได้รับการปรับแก้ให้มีเรื่องปริมาณเล็กน้อย เนื่องจากในอดีตมีข้อถกเถียงว่า ถ้ามียาบ้าติดกระเป๋า หรือ ติดเล็บ จำนวนไม่ถึงเม็ด ก็จะถูกดำเนินคดี ดังนั้น จึงมีการเพิ่มมาตรา ให้มีเรื่องปริมาณเล็กน้อย เพื่อให้ฝ่ายปฎิบัติ ไม่ต้องยุ่งยากมาก แต่หลังจากนี้ จะกำหนดจำนวนกี่เม็ด ก็ต้องมีการหารือจากทุกภาคส่วน แต่ยอมรับว่ามีแนวโน้มน้อยลงกว่า 5 เม็ด อย่างแน่นอน

ส่วนการแก้กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องกัญชานั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมีการปรับปรุง โดยแนวทางต้องเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนอย่างไร ต้องหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะเราจะทำโดยลำพังไม่ได้ ซึ่งขอยังไม่ลงรายละเอียดว่า จะเป็นกัญชาทางการแพทย์เท่านั้นหรือไม่ โดยขอให้รอความชัดเจนภายในเดือนนี้ 

นายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าการครอบครองยาบ้า ไม่ว่าจะปริมาณมากน้อย แค่ไหน คือผิดกฎหมาย และแม้มีอยู่ไม่เกิน 5 เม็ด แต่ถ้ามีพฤติกรรมเป็นผู้ค้า ก็ต้องถูกจัดหมวดเป็นผู้ค้า เราจะดูจากว่าเคยถูกจับกุมมาก่อนหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเห็นไม่เกิน 5 เม็ดแล้วส่งบำบัดหมด แบบนั้นผิด ของแบบนี้ ตรวจสอบดูได้ ใครผู้ค้า ใครผู้เสพ ผู้ค้าทำผิดมากกว่าอยู่แล้ว ส่วนที่เป็นห่วงว่าสถานที่บำบัดไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องไปรักษากันในค่ายทหาร ทุกอย่างมีทางออก

“ท่านนายกฯ กำชับให้ทาง สธ.ไปเขียนมาให้ชัดเจน ข้อบังคับทั้งหลาย จะได้เลิกตีความกันผิดๆ และขอให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกัน ซึ่งเราทำมาโดยตลอด เรื่อง 5 เม็ด เราดูได้แบบไหนผู้ค้า แบบไหนผู้เสพ ผู้ค้าโทษหนักกว่า การบำบัด ก็มองไปถึงเรื่องของค่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ก็มองหาสถานที่ไว้แล้ว เราเคยตั้ง ร.พ.สนามกันมาแล้ว ในช่วงโควิด เรื่องนี้แก้ไม่ยาก เรื่องการปราบปรามจับกุมคุมขัง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เราร่วมมือกัน ก็จับได้เยอะ แต่ก็ต้องช่วยกันระวัง”

ต่อแต่นี้ไปก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะบรรลุผลตามที่ประกาศเอาไว้เป็นนโยบายแห่งชาติหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีการค้าและเสพกันทุกหมู่บ้านและชุมชน ถ้าไม่เอาจริงและเด็ดขาดเหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงต่อความปลอดภัยของประชาชน

โดยเฉพาะอนาคตของเยาวชนของชาติจะตกเป็นทาสยาบ้าที่มีจำนวนที่สูงขึ้นตามผลสำรวจที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น.