In News

ครม.เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรี เอเปคด้านสตรี-เศรษฐกิจปี67



เพชรบุรี-“รัดเกล้า” เผย ครม. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ประจำปี 2567

นางรัดเกล้า  อินทวงศ์  สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า วันนี้ (14 พฤษภาคม 67) มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้

​​1.เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ (ร่างแถลงการณ์ฯ) ประจำปี 2567 [2024 APEC Women and the Economy Forum Statement] โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้ พม. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

​​2.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายวราวุธ ศิลปอาชา) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างแถลงการณ์ฯ ในการประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรี และเศรษฐกิจ (High-Level Policy Dialogue on Woman and the Economy : HLPDWE) ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองอาเรกิปา สาธารณรัฐเปรู

​​สาระสำคัญ
​​พม. รายงานว่า
​​1.สำนักเลขาธิการเอเปค โดยฝ่ายเลขานุการในส่วนของภารกิจหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบเศรษฐกิจ (PPWE) ได้มีหนังสือเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้าร่วมการประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจประจำปี 2567 ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองอาเรกิปา สาธารณรัฐเปรู ในส่วนของการประชุมระดับสูงสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านสตรีและเศรษฐกิจ (HLPDWE) เพื่อหารือเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการเร่งเสริมสร้างพลังสตรีในทางเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์ต่อการสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองและเป็นธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม

​​2.ร่างแถลงการณ์ฯ เป็นเอกสารแสดงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างพลังสตรีในทางเศรษฐกิจใน APEC มีสาระสำคัญ ดังนี้

​​​2.1 การส่งเสริมสตรีในอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering and Mathematics: STEM) โดยตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในอาชีพด้าน STEM มากขึ้น เช่น การพัฒนาโปรแกรมการศึกษาที่ส่งเสริมความสนใจของเด็กผู้หญิงในเรื่อง STEM ตั้งแต่วัยเยาว์รวมถึงการส่งเสริมให้มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจในด้าน STEM ศึกษา ซึ่งจะเป็นรากฐานในอนาคตที่แสดงถึงความเท่าเทียมของผู้หญิง

​​​2.2 การสร้างโอกาส : ความครอบคลุมทางการเงินในฐานะเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ตระหนักว่าการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบการเงินเป็นเสาหลักพื้นฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจผ่านการเข้าถึงทุนและตลาด การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและโอกาสในการเรียนรู้ในด้านทักษะและสมรรถนะด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถเสริมสร้างความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ

2.3 การสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม: การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการป้องกันและจัดการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารใหม่ๆ ในยุคดิจิตอลเพื่อเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความรุนแรงต่อผู้หญิง เช่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเหยื่อหรือผู้หญิงที่มีความเสี่ยงระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะดำเนินความร่วมมือกับระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมกันและสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับ APEC ที่ยุติธรรมด้วยการขจัดอุปสรรคที่เกิดจากความรุนแรงที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเต็มรูปแบบของสตรี