In News

นายกฯรับข้อเสนอ4ขับเคลื่อนศก.5ภาค จากสภาหอการค้าฯยันรับฟังทุกภาคส่วน



กรุงเทพฯ-นายกรัฐมนตรีขอบคุณข้อเสนอหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เชื่อมั่นในการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีแก่คนไทย ยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตเต็มศักยภาพ

วันนี้ (15 มีนาคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพีน้องชาวไทยทั่วประเทศ ย้ำพร้อมรับฟัง และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ขอบคุณ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากการที่หอการค้าไทยได้จัดประชุมใหญ่ หอการค้า 5 ภาค ซึ่งได้ระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการ ทบทวนแผนงานเศรษฐกิจภาคเอกชนของหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพโดยแบ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ในแต่ภาค ดังนี้ 

แผนยุทธศาสตร์ภาคกลาง เสนอแผนการขับเคลื่อน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเป็นศูนย์กลางสุขภาพและศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Hub and Wellness) 2. การยกระดับอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับ Food Valley และ Innovation Hub 3. การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ สำหรับภาคเหนือ หอการค้าภาคเหนือผลักดันส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมทั้งยกระดับสนามบินพิษณุโลกสู่การเป็นสนามบินนานาชาติ มุ่งเชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคอื่น ๆ

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสนอให้เป็นดินแดนแห่งการเชื่อมโยงและรุ่งเรืองในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่าน 4 แผน ได้แก่ 1. การค้าและการท่องเที่ยว พื้นที่ชายแดนติดกับประเทศลาว 2. เกษตรและอาหาร ส่งเสริมโครงการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง 3. ท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่อุดรธานีในปี 2569 และ 4. แผนบริหารจัดการแม่น้ำโขง แม่น้ำเลย แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำ

ภาคตะวันออก เสนอให้เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ครอบคลุมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในปี 2571 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาภายในปี 2571  และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายในปี 2570 ผลักดันการขยายพื้นที่ EEC เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในระดับนานาชาติ และเร่งการลงทุนด้านการพัฒนาการศึกษา ยกระดับสมรรถนะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ภาคใต้ วางแผนขับเคลื่อน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ 2. การสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์กลางแสดงสินค้าและแลกเปลี่ยนธุรกิจ 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา 4. การพัฒนาการเชื่อมโยงโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองรับการเป็นศูนย์กลางสินค้าฮาลาล

“นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนาแผนงานเศรษฐกิจจากทุกภาคส่วน และยินดีส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละภูมิภาคพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจักได้นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนมาประกอบกันเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ในการทำงาน ขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค” นายชัย กล่าว