In Bangkok

สำรวจปลูกต้นไม้รพ.พระมงคลเทพมุนี 'ยกซากรถ-ยกเลิกจุดทำการค้า-ฝุ่นจิ๋ว'



กรุงเทพฯ-สำรวจพื้นที่ปลูกต้นไม้ล้านต้น รพ.พระมงคลเทพมุนี ยกเลิกจุดทำการค้าปากซอยเพชรเกษม 54 ย้ายซากยานยนต์คืนผิวจราจรซอยบางแวก 2 ตรวจวัดควันดำรถขนส่ง พร้อมชมคัดแยกขยะโรงงานปักผ้าแกมม่าอินดัสตรี้ส์เขตภาษีเจริญ 

(15 พ.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ประกอบด้วย สำรวจพื้นที่โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น บริเวณโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ซึ่งเขตฯ ได้ขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตามโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยใช้พื้นที่บริเวณโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี บนที่ดินของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พื้นที่ 14 ไร่ 70 ตารางวา ปัจจุบันได้ก่อสร้างอาคารชั่วคราวชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ใช้สอย 1,350 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตภาษีเจริญ ได้ร่วมกันปลูกต้นชะแมบทอง เพื่อเพิ่มความร่มรื่นและสวยงามในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที ได้แก่ 1.สวน 15 นาที บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางแยกถนนบางแวก พื้นที่ 12 ตารางเมตร 2.สวนแห่งรอยยิ้มและพื้นที่สุขภาวะ ชุมชนเลิศสุขสม บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 พื้นที่ 400 ตารางเมตร 3.สวนป่าถนนศาลธนบุรี พื้นที่ 1,920 ตารางเมตร บริเวณหน้าหมู่บ้านกิจเจริญ ซอยศาลธนบุรี 29 สวน 15 นาทีแห่งใหม่ ได้แก่ 1.สวนวัดกำแพงบางแวก ซอยบางแวก 32 พื้นที่ 560 ตารางเมตร 2.สวนวัดประดู่บางจาก ซอยราชพฤกษ์ 1 พื้นที่ 120 ตารางเมตร 3.สวนต้นหูกระจง พื้นที่ 1,528 ตารางเมตร อยู่ระหว่างออกแบบสวน 

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณปากซอยเพชรเกษม 54 ถนนเพชรเกษม เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 12 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 237 ราย ดังนี้ 1.ซอยเพชรเกษม 48 ผู้ค้า 25 ราย 2.ซอยเพชรเกษม 42 ผู้ค้า 21 ราย 3.ซอยเพชรเกษม 36 ผู้ค้า 32 ราย 4.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 11 ราย 5.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 7 ราย 6.ซอยเพชรเกษม 20 ผู้ค้า 31 ราย 7.หน้าวัดนาคปรก ถนนเทอดไท ผู้ค้า 12 ราย 8.ซอยเพชรเกษม 33 ผู้ค้า 17 ราย 9.หน้าบ้านพักคนชรา ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 49 ราย 10.ปากซอยวงศ์ดอกไม้ ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 22 ราย 11.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 4 ราย 12.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 6 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 93 ราย ได้แก่ 1.ซอยเพชรเกษม 20 ผู้ค้า 31 ราย 2.ซอยเพชรเกษม 36 ผู้ค้า 32 ราย 3.หน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 ผู้ค้า 4 ราย 4.ซอยเพชรเกษม 39 ผู้ค้า 7 ราย 5.ซอยเพชรเกษม 54 ผู้ค้า 9 ราย 6.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 4 ราย 7.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 6 ราย ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 3 จุด คือ 1.หน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 2.ซอยเพชรเกษม 39 3.ซอยเพชรเกษม 54 โดยจะทยอยยกเลิกให้ครบทั้งหมด 7 จุดภายในเดือนกันยายน 2567 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนดไว้ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกและปลอดภัย 

ติดตามการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์ที่จอดทิ้งไว้บนถนนหรือสถานที่สาธารณะ บริเวณซอยบางแวก 2 แยก 4 เขตภาษีเจริญ ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ประกอบกับได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ว่ามีซากยานยนต์จอดทิ้งไว้บนถนนสาธารณะ จำนวน 1 คัน โดยได้ประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบทางด้านคดี และตรวจสอบทะเบียนรถในระบบกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งปิดประกาศให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ภายในระยะเวลา 15 วัน จากการตรวจสอบไม่พบเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และยังไม่มีผู้ใดมาทำการเคลื่อนย้าย จึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยวันนี้เขตฯ ร่วมกับสำนักเทศกิจ ซึ่งให้การสนับสนุนรถบรรทุกแบบชานเลื่อน (รถชานสไลด์) ที่เข้ามาประจำการใหม่ ดำเนินการเคลื่อนย้ายซากยานยนต์คันดังกล่าว เพื่อนำไปเก็บไว้บริเวณสถานที่เก็บรักษาของกลางเขตหนองแขม กำหนดจัดเก็บซากยานยนต์เป็นระยะเวลา 6 เดือน หากไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อ จะดำเนินการขายทอดตลาดซากยานยนต์ตามระเบียบของทางราชการว่าด้วยการดำเนินคดีต่อไป สำหรับผลการดำเนินงานจัดการซากยานยนต์จอดทิ้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-2567 ตรวจพบซากยานยนต์ 1,434 คัน เจ้าของเคลื่อนย้ายเอง 1,201 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 233 คัน ดำเนินการเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 54 คัน และขายทอดตลาด 44 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค.67) 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท แกมม่าอินดัสตรี้ส์ จำกัด ซอยเพชรเกษม 28 ซึ่งประกอบกิจการประเภทการปั่นด้าย กรอด้าย การเย็บ ปักผ้า หรือสิ่งทออื่นๆ มีรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในสถานประกอบการ จำนวน 6 คัน โดยเขตฯ ได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

จากนั้นเยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท แกมม่าอินดัสตรี้ส์ จำกัด พื้นที่ 3,750 ตารางเมตร พนักงาน 400 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2557 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหาร ส่งเสริมให้พนักงานรับประทานอาหารให้หมด ถ้าเหลือทิ้งจะนำไปเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพบริเวณสวนเกษตรด้านข้างบริษัท 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังรองรับขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลจากขั้นตอนการผลิต เช่น แกนหลอดด้าย ท่อกระดาษ เศษผ้า กำหนดจุดเก็บขยะรีไซเคิล เพื่อรวบรวมส่งขายเป็นรายได้ของบริษัท 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไป ให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะทั่วไปแก่พนักงาน กำหนดจุดรวบรวมขยะทั่วไป บริเวณลานจอดรถ เขตฯ จัดเก็บตามกำหนด 4.ขยะอันตราย ตั้งถังรองรับขยะอันตราย กำหนดจุดรวบรวมขยะอันตราย ให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะอันตรายแก่พนักงาน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 350 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 260 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน 

ในการนี้มี นางเยาวะสกุล ทองธัญวีรัตน์ ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตภาษีเจริญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล