In Bangkok

กทม.ตรวจเปิดเทอมวันแรก34โรงเรียน นำร่องปรับหลักสูตรเป็นSkills Based



กรุงเทพฯ-ผู้บริหาร กทม. ตรวจเยี่ยมเปิดเทอมวันแรก 34 โรงเรียน นำร่องปรับหลักสูตรเป็น Skills Based ยึดสมรรถนะเด็กเป็นที่ตั้ง

(16 พ.ค. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการเปิดภาคเรียนวันแรก ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ณ โรงเรียนวัดราชนัดดา เขตพระนคร ว่า ในวันนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้มีการกระจายกันลงพื้นที่โรงเรียนกลุ่มเขตต่าง ๆ ซึ่งปีที่แล้วได้ไปโรงเรียนขนาดใหญ่ ปีนี้มาที่โรงเรียนขนาดเล็กบ้าง สำหรับโรงเรียนวัดราชนัดดามีเด็กนักเรียนเพียง 59 คน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีโรงเรียนขนาดเล็กที่เด็กนักเรียนน้อยกว่า 100 คน จำนวน 47 โรงเรียน จาก 437 โรงเรียน ไม่ว่าเด็กนักเรียนจะเยอะหรือน้อยต้องใส่ใจ คุณภาพต้องได้เท่าเทียมไม่แพ้โรงเรียนขนาดใหญ่ ข้อดีของโรงเรียนวัดราชนัดดาคืออัตราส่วนครูต่อนักเรียนดีกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ สื่อการเรียนการสอนไม่แพ้กว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่อาจต้องใช้เทคโนโลยีหรือการช่วยเหลือครูเพิ่มเติมเพื่อให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีนโยบายด้านการศึกษาที่ต้องทำคู่ขนานคือ 1. โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ห้องเรียน ห้องปลอดฝุ่น ห้องดนตรี ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ โรงอาหาร สนามเด็กเล่น เป็นต้น ต้องทำให้ดีและได้มาตรฐาน 2. ครู ต้องเร่งเติมครูให้เต็มตามอัตราหรือกรอบที่ได้ เพราะการโยกครูจากวิชาหนึ่งมาสอนอีกวิชาหนึ่ง อาจจะไม่สามารถคาดหวังคุณภาพการศึกษาที่ดีได้ ซึ่งครูเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงมีการจ้างธุรการมาทำงานด้านเอกสารเพื่อช่วยลดภาระครู 3. หลักสูตร มีการใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาตั้งแต่ปี 2551 ปีนี้เป็นปีแรกที่กรุงเทพมหานครเข้าร่วมโรงเรียนนวัตกรรมการศึกษา โดยมีโรงเรียนในสังกัดนำร่องเข้าร่วมจำนวน 34 โรงเรียน และมีการเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งโรงเรียนมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Skills Based) จากเดิมที่ใช้ Time Based มาเป็น Skill Based เป็นการใช้ทักษะของนักเรียนเป็นฐาน เช่น ถ้าต้องเรียนภาษาอังกฤษ 20 ชั่วโมง แต่เด็กสามารถเรียนรู้จบภายใน 5 ชั่วโมง อีก 15 ชั่วโมงที่เหลือสามารถไปเรียนอย่างอื่นได้ ส่วนใครที่เรียนครบ 20 ชั่วโมงแล้วแต่ยังไม่ได้ สามารถเรียนเพิ่มเติมได้ เป็นการเอาทักษะ หรือสมรรถะของนักเรียนเป็นที่ตั้ง แล้วออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กนักเรียน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ส่วน 403 โรงเรียนที่เหลือ ได้มีการประกาศจุดยืน คือสอนให้เด็กรู้จัก “เอ๊ะ” สงสัย จากนั้น “อ๋อ” จากการหาความรู้ ลงมือทำ เพื่อให้ได้คำตอบ แล้ว “โอเค” นำไปใช้จริง ส่วนเรื่องสุดท้าย 4. ผู้ปกครอง อยากให้สวัสดิการช่วยเหลือผู้ปกครอง ซึ่งกรุงเทพมหานครมีสวัสดิการเรียนฟรี อาหารเช้า อาหารกลางวัน รวมถึงแจกผ้าอนามัย เป็นต้น รวมถึงดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย

ด้านสถานการณ์โควิดนั้น กรุงเทพมหานครยังคงมีมาตรการคุมเข้มเหมือนเดิม แต่ที่ห่วงเพิ่มขึ้นคือ กัญชา บุหรี่ไฟฟ้า อบายมุข เพราะเป็นสิ่งใหม่ และเดี๋ยวนี้บุหรี่ไฟฟ้าก็มีหน้าตาแปลกใหม่สำหรับเด็ก 

สำหรับโรงเรียนวัดราชนัดดา ตั้งอยู่บริเวณถนนมหาไชย เขตพระนคร เปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2476 จนถึงปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนคือ ขุนเลขสารสฤษดิ์ นายอำเภอพระนคร โดยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เรียน ได้ชื่อว่าโรงเรียนเทศบาล 23 (วัดราชนัดดา) เดิมเป็นโรงเรียนประชาบาล เปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – 4 ซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ของวัดราชนัดดาราม เนื้อที่ 1 ไร่ 10 ตารางวา ด้านหน้าโรงเรียนติดกับซอยดำเนินกลางใต้ ด้านหลังโรงเรียนติดกับบริเวณวัด (คณะ 4) ด้านขวาของโรงเรียนติดกับถนนเข้าบริเวณวัด และด้านซ้ายของโรงเรียนติดกับตรอกวัดราชนัดดารามวรวิหาร ปัจจุบันเปิดสอนระดับชั้น อนุบาล 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 59 คน

โอกาสนี้ นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

วันเดียวกันนี้ นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เป็นประธานการตรวจเยี่ยม ณ โรงเรียนบางขุนเทียนศึกษา เขตบางขุนเทียน นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการตรวจเยี่ยม ณ โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ เขตหนองจอก นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการตรวจเยี่ยม ณ โรงเรียนรุ่งเรืองอุปถัมภ์ เขตบางนา และนายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการตรวจเยี่ยม ณ โรงเรียนพระราม 9 กาญจนาภิเษก เขตห้วยขวาง