In Bangkok

กทม.จับมือThaiRAPนํามาตรฐานประเมิน iRAPมาใช้กับถนนในกรุงเทพฯ



กรุงเทพฯ-กทม. จับมือ ThaiRAP นํามาตรฐานการประเมิน iRAP มาใช้กับถนนในกรุงเทพฯ ออกแบบถนนในเมือง ด้วย Urban Street Design ให้มีความปลอดภัย 3 ดาวขึ้นไป สำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัย

(16 พ.ค. 67) เวลา 10.00 น. นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการแถลงผลงานโครงการประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร ด้วยมาตรฐานนานาชาติ (iRAP) โดยมีนายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อํานวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล ผู้จัดการโครงการ ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง ร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในปัจจุบัน ถนนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงเส้นทางสำหรับการคมนาคมขนส่งต่อผู้คน สินค้า และบริการเท่านั้น ยังมีการรองรับความผสมผสานของกิจกรรมต่าง ๆ ของพื้นที่โดยรอบ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ชุมชน ซึ่งต้องมีความปลอดภัย ยั่งยืน ยึดหยุ่น และมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในทํานองเดียวกัน ต้องเอื้อต่อผู้ใช้ทางหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้ทางทั่วไป รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้ที่เปราะบาง ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะมีความรุนแรงสูงกว่ากลุ่มคนทั่วไป ดังนั้น การออกแบบการใช้งานของถนน จำเป็นต้องพิจารณาถึงความสะดวกหลากหลายรูปแบบและปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานเหล่านี้เป็นสำคัญ 

เครื่องมือหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและนํามาประยุกต์กับนานาประเทศ คือ การประเมินระดับความปลอดภัยด้วยมาตรฐานนานาชาติ หรือเรียกว่า iRAP ซึ่งเป็นการให้คะแนนแบบดาว หรือ Star Rating และเป็นหนึ่งใน Road Safety System โดยเป็นแนวทางเชิงป้องกัน (Proactive Approach) มีพื้นฐานแนวคิดว่าอุบัติเหตุจราจรเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ การออกแบบถนนที่ปลอดภัยจะช่วยผู้ใช้ทางในการขับขี่ให้สามารถลดอันตรายจากความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น การให้คะแนนแบบดาวเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถใช้เป็นมาตรวัดระดับความปลอดภัยทางถนน โดยพิจารณาจากมิติของกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า ถนนที่ได้ 5 ดาว จัดเป็นถนนที่มีความปลอดภัยสูงสุด และถนนที่ได้ 1 ดาว จัดเป็นถนนที่มีความปลอดภัยต่ำสุด ซึ่งมาตรฐานและค่าเป้าหมายของถนนที่ปลอดภัยที่นานาชาติยอมรับควรอยู่ที่ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป

สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ร่วมมือกับหน่วยงาน ThaiRAP ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นําผลลัพธ์ของการนําระบบการประเมิน iRAP มาใช้กับถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างองค์กรแห่งมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ด้วยการประเมินสภาพถนนปัจจุบันในโครงข่ายกรุงเทพมหานคร 530 กิโลเมตร และการประเมินถนนนําร่อง 1 เขต 1 ถนน 3 ดาว รวมทั้งการร่างแบบความปลอดภัยสำหรับถนนวงแหวนรอบในกรุงเทพมหานครหรือวงแหวนรัชดาภิเษก ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดการออกแบบถนนในเมือง หรือ Urban Street Design เข้ามาใช้ในการปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งเป้าหมายหลักของการนำมาตรการจาก iRAP มาประยุกต์ใช้ คือยกระดับมาตรฐานความ ปลอดภัยอย่างน้อย 3 ดาว สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย 

ผลการศึกษาจากโครงการนี้ นําไปสู่แผนการในการยกระดับความปลอดภัยทางถนน โดยเน้น 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การควบคุมความเร็วที่เหมาะสม โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นชุมชนหนาแน่น ด้วยการปรับความเร็วจํากัดและติดตั้งมาตรการสยบความเร็ว การป้องกันสิ่งอันตรายข้างทางตลอดแนวเส้นทาง ด้วยการกําจัดออกหรือติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันโดยเฉพาะ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัยบริเวณทางแยกด้วยการจัดการช่องจราจร และปรับสัญญาณไฟจราจรให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทางทุกกลุ่ม นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงทางเท้าและทางข้ามให้ปลอดภัย โดยให้สอดคล้องกับกิจกรรมในพื้นที่ 2 ข้างทาง รวมทั้งปรับปรุงสัญลักษณ์จราจรบนพื้นทาง และป้ายจราจรให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในทุกสภาพการณ์ โดยการปรับปรุงถนนตามมาตรการต่าง ๆ อาจแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ มาตรการในระยะสั้น ประกอบด้วย การทาสี ตีเส้นจราจร เพื่อความชัดเจน การกําจัดสิ่งกีดขวางหรือบดบังการมองเห็น รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยจำพวกเสาล้มลุกหรือป้ายเตือนต่าง ๆ มาตรการระยะยาว ประกอบด้วย การติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยที่ใช้งบประมาณสูง หรือต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการดำเนินการ เช่น การติดตั้งทางม้าลายและสัญญาณไฟคนข้าม การติดตั้งราวกันอันตราย การปรับปรุงขยายทางเท้า และการสร้างเส้นทางสำหรับผู้ใช้จักรยาน เป็นต้น

และด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ผลลัพธ์ได้ปรากฎสู่สายตาชาวโลกและถือเป็นความภาคภูมิใจของคนกรุงเทพฯ โดยเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 กรุงเทพมหานครได้รับรางวัล Finalist - Best Performing Road Authority Eliminating High - risk Roads จากสถาบัน International Road Assessment Programme (iRAP) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกและหนึ่งเดียวจากเอเชียที่ได้รับรางวัลนี้ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทางถนนของไทยที่ไปสู่ระดับสากลอีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สนับสนุนต่อปฏิญญากรุงสตอกโฮล์ม ว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน (Stockholm Declaration) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนภายในปี 2030 ร้อยละ 50 สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ตระหนักดีว่าการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรจำเป็นต้องดำเนินการในหลายมิติ ตั้งแต่การจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบหลักพร้อมสร้างความเข้มแข็งให้บุคลากรของกรุงเทพมหานคร การสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ ทั้งปัญหาด้านกายภาพของถนนที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน การประเมินและปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนด้วยมาตรฐานนานาชาติ เป็นการเริ่มต้นปรับปรุงความปลอดภัยโครงข่ายถนนตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGS) และเป็นการตอบสนององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “เดินทางดี” และ “ปลอดภัยดี” และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้กําหนดให้ปี พ.ศ. 2564 - 2573 เป็นทศวรรษความปลอดภัยทางถนน ระยะที่ 2 ต่อไป