In Bangkok
กทม.เตรียมรับมือฤดูฝนเฝ้าระวังจุดเสี่ยง เตรียมตั้งศูนย์ช่วยประชาชนทุกเขต
กรุงเทพฯ-(16 พ.ค. 67) เวลา 13.30 น. : นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักงบประมาณ สำนักงานประชาสัมพันธ์ ผู้บริหารเขต 50 เขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชีนิมิตร ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ และผ่านระบบการประชุมทางไกล
ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าการขุดลอกท่อระบายน้ำและขุดลอกคลอง โดยในปี 2567 มีแผนขุดลอกท่อ 4,234.7 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว 2,664.7 กิโลเมตร คิดเป็น 62.9% อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,570 กิโลเมตร คิดเป็น 37.1% ทั้งนี้ ท่อระบายน้ำในกทม. มีความยาวประมาณ 6,816 กิโลเมตร แผนขุดลอกคลอง 179 คลอง ระยะทาง 217,930 เมตร ดำเนินการแล้ว 144,337 เมตร คิดเป็น 66.23% อยู่ระหว่างดำเนินการ 73,593 เมตร คิดเป็น 33.77% แผนเปิดทางน้ำไหล 1,311 คลอง ระยะทาง 1,965,913 เมตร ดำเนินการแล้ว 1,455,887 เมตร คิดเป็น 74.05% อยู่ระหว่างดำเนินการ 510,026 เมตร คิดเป็น 25.95% แผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1,134 เครื่อง ติดตั้งแล้ว 1,120 เครื่อง คิดเป็น 98.77% อยู่ระหว่างการติดตั้ง 14 เครื่อง แผนการเตรียมความพร้อมและล้างทำความสะอาดอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง แล้วเสร็จ คิดเป็น 100% ประตูระบายน้ำ 242 แห่ง แล้วเสร็จ คิดเป็น 100% และสถานีสูบน้ำ 188 แห่ง แล้วเสร็จ คิดเป็น 100% (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พ.ค.67)
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า
ขณะนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว สํานักการระบายน้ำ กทม. ได้เตรียมความพร้อมในหลายส่วน ในเรื่องของจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมที่มีอยู่เดิมหรือปรับสถานะ อยากให้ทำการตรวจสอบ เตรียมความพร้อมและสำรวจประเมินทุกจุด ว่าจากการพัฒนาระบบระบายน้ำในปีนี้ ยังมีประเด็นหรือเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ เพื่อจะได้นำมาพัฒนาปรับปรุงในปีต่อไป สำหรับการล้างท่อระบายน้ำและขุดลอกคลอง ให้ตรวจสอบกระบวนการขั้นตอนและเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน ส่วนการติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในเรื่องของน้ำมัน และวัสดุอุปกรณ์ให้มีความพร้อม ด้านสํานักงานเขตทั้ง 50 เขต ขอให้ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการพิจารณาการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนโดยให้มีทุกเขต ภายในศูนย์ฯ มีโครงสร้างการจัดการที่สามารถตอบสนองภารกิจในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ รวมถึงการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วมหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสนับสนุนเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ หรืออื่นๆ สามารถประสานมาที่ส่วนกลางได้
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วม ในถนนสายหลักประจำปี 2567 จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย 1. ถนนรัชดาภิเษก จากแยกรัชโยธิน ถึงถนนลาดพร้าว (หน้าธนาการกรุงเทพ) เขตจตุจักร 2. ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงจากคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ 3. ถนนพญาไท บริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ เขตราชเทวี 4.ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้า สน.พญาไท เขตราชเทวี 5. ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ ช่วงจากถนนเพชรเกษม ถึงวงเวียนกาญจนภิเษก เขตบางแค
จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม ในถนนสายหลักปี 2567 จำนวน 38 จุด ประกอบด้วย
1. ถนนเทศบาลสงเคราะห์ จากคลองประปา ถึงคลองเปรมประชากร เขตจตุจักร 2. ถนนกำแพงเพชร บริเวณแยกถนนกำแพงเพชร 1 เขตจตุจักร 3. ถนนกำแพงเพชร 3 จากสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ถึงถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร 4. ถนนพหลโยธิน บริเวณกรมขนส่งทางบก เขตจตุจักร 5. ถนนรัชดาภิเษก จากแยกรัชโยธิน ถึงซอยอาภาภิรมย์ เขตจตุจักร 6. ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน 7. ถนนรัชดาภิเษก จากแยกพระราม 9 ถึงแยกห้วยขวาง เขตดินแดง 8. ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เขตดินแดง 9. ถนนศรีอยุธยา บริเวณหน้าพระราชวังดุสิต เขตดุสิต 10. ถนนประดิพัทธ์ บริเวณแยกสะพานควาย เขตพญาไท 11. ถนนพหลโยธิน จากคลองสามเสน ถึงคลองบางซื่อ เขตพญาไท 12. ถนนพระราม 6 บริเวณช่วงทางด่วน เขตพญาไท 13. ถนนสุทธิสารวินิจฉัย (ตลอดสาย) เขตพญาไท 14. ถนนวิภาวดีรังสิต จากแยกสุทธิสาร ถึงคลองบางชื่อ เขตพญาไท 15. ถนนสนามไชย จากเศรษฐการ ถึงถนนท้ายวังและรอบสนามหลวง เขตพระนคร 16. ถนนเพชรบุรี จากแยกอโศก ถึงแยกมิตรสัมพันธ์ เขตราชเทวี 17. ถนนพระราม 6 จากหน้าตลาดประแจจีน ถึงแยกศรีอยุธยา เขตราชเทวี 18. ถนนราชปรารภ จากประตูน้ำ ถึงแยกดินแดง เขตราชเทวี 19. ถนนศรีอยุธยา จากหน้าวังสวนผักกาด ถึงแยกพญาไท เขตราชเทวี 20. ถนนลาดพร้าว จากแยกประดิษฐ์มนูธรรม ถึงคลองจั่น เขตวังทองหลาง
21. ถนนเพชรบุรี จากแยกอโศก ถึงคลองบางกะปิ เขตห้วยขวาง 22. ถนนพระราม 3 บริเวณตลาดฮ่องกงปีนัง ถึงแยก ณ ระนอง เขตคลองเตย 23. ถนนพระราม 4 จากแยกสุขุมวิท ถึงแยกถนนเกษมราษฎร์ เขตคลองเตย 24. ถนนสุนทรโกษา จากแยกสุนทรโกษา ถึงหน้ากรมศุลกากร เขตคลองเตย 25. ถนนศรีนครินทร์ บริเวณหน้าวัดศรีเอี่ยม เขตบางนา 26. ถนนสุขุมวิท จากแยกอโศก ถึงสุขุมวิท 71 เขตวัฒนา 27. ถนนอโศกมนตรี บริเวณหน้าตึกแกรมมี่ เขตวัฒนา 28. ถนนพัฒนาการ จากแยกศรีนครินทร์ ถึงคลองบ้านป่า เขตสวนหลวง 29. ถนนรามคำแหง ช่วงซอย 1 ถึงซอย 5 เขตสวนหลวง 30. ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ เขตสาทร 31. ถนนรามคำแหง ช่วงหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง เขตบางกะปิ 32. ถนนกรุงเทพกรีฑา จากถนนศรีนครินทร์ ถึงคลองทับช้างล่าง เขตสะพานสูง 33. ถนนจอมทอง บริเวณแยกวุฒากาศ เขตจอมทอง 34. ถนนฉิมพลี จากคู่สง่า ถึงถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน 35. ถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ฝั่งขาออก บริเวณวงเวียนชัยพฤกษ์ เขตตลิ่งชัน 36. ถนนประชาอุทิศ จากคลองรางตรง ถึงคลองรางจาก เขตทุ่งครุ 37. ถนนเพชรเกษม จากหน้าตลาดบางแค ถึงคลองบางหว้า เขตภาษีเจริญ และ 38. ถนนเพชรเกษม ช่วงจากคลองทวีวัฒนา ถึงคลองพระยาราชมนตรี เขตภาษีเจริญ
ทั้งนี้ จุดเฝ้าระวัง ที่ปรับลดลงจากปี 2566 จำนวน 6 จุด (ปี 2566 จำนวน 43 จุด) ได้แก่ 1. ถนนดินแดง ช่วงซอยสุทธิพร 2 และแยกประชาสงเคราะห์ 2. ถนนประชาสงเคราะห์ จากวงเวียนหอนาฬิกา ถึงถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ 3.ถนนประชาสุขตลอดสาย 4. ถนนจันทน์ ช่วงจากซอยบำเพ็ญกุศล ถึงที่ทำการไปรษณีย์ยานนาวา 5. ถนนศรีนครินทร์ จากแยกลำสาลี ถึงถนนกรุงเทพกรีทา 6.ถนนบางขุนเทียน - ชายทะเล ช่วงจากถนนพระรามที่ 2 ถึงคลองสะแกงาม โดยมีการปรับเพิ่มสถานะรวมเป็นจุดเสี่ยงตามสถานการณ์ฝนปี 2565 - 2566 จำนวน 1 จุด คือถนนรัชดาภิเษก จากแยกรัชโยธิน ถึงซอยอาภาภิรมย์ และปรับสถานะเป็นจุดเฝ้าระวังตามสถานการณ์ฝนปี 2565 - 2566 จำนวน 1 จุด คือ ถนนพหลโยธิน จากแยกรัชโยธิน ถึงห้าแยกลาดพร้าว