In Bangkok

อัปเดตงาน5คณะทำงานระบบสาธารณสุข เดินหน้าตามนโยบายสุขภาพดีปี2



กรุงเทพฯ-(16 พ.ค.67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567  ณ ห้องประชุมจรัสเมือง ชั้น 2 โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ เขตปทุมวัน และผ่านระบบออนไลน์

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า  กรุงเทพมหานครจะมีการจัดงาน BKK Expo 2024 ระหว่างวันที่ 20 – 23 มิถุนายน 67 ณ สวนเบญจกิติ ซึ่งจะแสดงให้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม รวมถึงอีก 2 ปีข้างหน้า กทม. จะเดินงานไปทางไหน ส่วนสายสุขภาพเราก็คงจะแสดงให้เห็นถึงในแง่ของ Commulance การตรวจรักษาในชุมชน, ศูนย์เทคโนฯ สุขภาพดี (Health Tech), UMSC, ระบบการทำงานกับเครือข่ายอย่างเป็นระบบ และรวมถึงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน โดยเอาผลการดำเนินงานมาจัดแสดง เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการจัดการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข

นอกจากนี้ กทม. ได้ทำ MOU กับ BDI ใช้ Health Link ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ โดยเปิดพื้นที่ Sand Box ในโซนสุขภาพ 3 มี รพ. เจริญกรุง รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ รพ.เลิดสิน ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 ศูนย์ ร้านขายยา คลินิกอบอุ่นที่เข้ามาแสดงเจตจำนง ซึ่งจะช่วยให้หน่วยบริการทุกระดับสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของประชาชนได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล การติดตามอาการ ลดความซ้ำซ้อนในการจ่ายยา การส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการของประชาชน

ต่อมาคือเรื่องนโยบายสุขภาพจิตและยาเสพติด เราเร่งทำเรื่องนี้มาก มุมหนึ่งในแง่ของหน่วยปฏิบัติบุคลากรจิตแพทย์และนักจิตวิทยาของเรามีไม่พอ จึงต้องมี Application ที่เรียกว่า “เติมเต็ม” เป็นการทำฐานข้อมูลของเด็กกลุ่มเปราะบาง มีการให้คำปรึกษา มีเพื่อนคุย มีการคัดกรองอยู่ระดับหนึ่ง เชื่อมกับศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลของเรา ซึ่งได้เริ่มทำไปแล้ว 2 เขต ผลการดำเนินการค่อนข้างดี และจะขยายผลไปอีก 7 เขต อีกทั้งโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง มีการแยกส่วนจัดสรรพื้นที่ให้สามารถดูแลคนไข้ด้านสุขภาพจิตประมาณ 8 -10 เตียง ด้วยบุคลากรด้านสุขภาพจิตที่มีไม่พอจึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สถาบันที่ดูแลด้านสุขภาพจิต ในการทำงานให้เป็นเครือข่ายมากขึ้น และขณะนี้ให้เจ้าหน้าที่เทศกิจและสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการรับมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติ เพื่อให้สามารถจัดการได้ในหลาย ๆ เรื่องที่จะนำมาสู่สุขภาพจิตได้ อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว เรื่อง ศคบ. ในการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเรื่องนี้กทม. เอาจริง และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายเรื่องเด็กเพื่อพยายามจะทำให้โรงเรียนไม่มีบุหรี่ไฟฟ้า และทำมาตรการเชิงรุกต่อไป 

เรื่องสุดท้าย การตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 ถึงปัจจุบัน เป้าหมายคือเราต้องการสุขภาวะต้องเป็นการตรวจที่พิเศษขึ้น ตรวจแบบ 3 พลัส คือ การตรวจตา การตรวจปอด การตรวจหัวใจ EKG ฟรี ทั้งนี้ กทม. จะเริ่มการตรวจสุขภาพรูปแบบ 3 พลัส ทุกโซนสุขภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 67 สำหรับยอดการตรวจที่มีหน่วยงานอื่นช่วยกทม. ตรวจอยู่ที่ 850,000 คน ตรวจแบบเชิงลึกจำนวนอยู่ที่ 260,000 คน ซึ่งกทม.จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์โดยใช้ Ai ทำเส้นทางข้อมูลและส่งคืนกลับให้สาธารณสุข สามารถแสดงให้เห็นถึงสถานะสุขภาพที่ต่างกันของคนในแต่พื้นที่ได้

จากนั้นที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของ 5 คณะทำงานด้านต่าง ๆ ได้แก่
1.คณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพื้นที่สุขภาพกรุงเทพมหานคร 2. คณะกรรมการพัฒนามาตรฐานระบบเครือข่ายบริการสุขภาพ 3. คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการเครือข่ายเส้นเลือดฝอยกรุงเทพมหานคร 4. คณะกรรมการยกระดับคุณภาพชีวิตและเวชศาสตร์เขตเมือง และ 5.คณะกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพดิจิทัล กรุงเทพมหานคร