In News
ภารกิจนายกฯบินเยือนอิตาลีหารือเอกชน ชูแฟชั่นเสนอขายผ้าย้อมครามสกลนคร
กรุงเทพฯ-นายกฯ เยี่ยมชมโรงงานผลิตชีส BONI S.p.A. ร่วมชมกระบวนการผลิต เพิ่มโอกาสและความร่วมมือนวัตกรรมอาหารแปรรูประหว่างกัน และ ให้สัมภาษณ์ภารกิจเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการวันแรก หารือภาคเอกชนด้านแฟชั่นที่สำคัญของอิตาลี นำเสนอผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร พร้อมหารือผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดียดึงดูดการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน นอกจากนี้ นายกฯหารือผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ผลักดันการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพ การเกษตรอัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองปาร์มา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตชีสของบริษัท BONI S.p.A. เมืองปาร์มา
บริษัทเป็นผู้นำในการผลิตชีส Parmigiano Reggiano และการเก็บรักษาชีส Grana Padano โดยโรงงานของบริษัท (เนื้อที่ 80,000 ตร.ม.) สามารถผลิตชีส Parmigiano Reggiano ได้ประมาณ 125,000 ชิ้นต่อปี จำหน่ายชีสทั้งสองประเภทได้ไม่ต่ำกว่า 19,000 ตันต่อปี และโรงงานมีประสิทธิภาพในการผลิตและเก็บรักษาชีสได้ประมาณ 500,000 ชิ้นต่อปี ทั้งนี้ โรงงานฯ มีกำลังการผลิต 300 wheels ต่อวัน ใช้นม 1,200 ลิตร ต่อ 1 wheel เก็บชีสไว้หนึ่งปี - ห้าปี มีอาคารขนาดใหญ่สองอาคาร ด้วยกรรมวิธีผลิตตามมาตรฐานชั้นนำ ทำให้ได้ชีสคุณภาพเยี่ยม
อิตาลีถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและแปรรูปอาหารรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป สินค้าอิตาลีจำนวนมากมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ซึ่งรวมถึงพาร์มาแฮม (Parma Ham) และชีส โดยในปี 2566 ไทยนำเข้าเนยแข็งหลายชนิดจากอิตาลี (7.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
นายกรัฐมนตรีหวังว่าจะเพิ่มโอกาสการเรียนรู้และความร่วมมือ นวัตกรรมด้านการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป อาจนำองค์ความรู้ที่ได้มาเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตให้คนไทยได้ทาน
นายกฯ ให้สัมภาษณ์ภารกิจเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการวันแรก
เมื่อเวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภารกิจวันแรกของการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ โดยช่วงเช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงาน Zegna บริษัทแบรนด์แฟชั่นของอิตาลีขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงสำคัญ เป็นบริษัทผลิตผ้าทั้ง Wool Cashmere ผ้าฝ้าย ผลิตให้บริษัทใหญ่หลายแบรนด์ดัง เช่น Dior Hermes มีร้านค้าที่พารากอน และจะเปิดสาขาอีก โดยเชื่อว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในไทย มีความเข้าใจในตลาดและเข้าใจความเป็นไทย ผูกพันกับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำผ้าย้อมครามจาก จ. สกลนคร มานำเสนอโดยในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าบริษัทจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาไทย
การหารือกับผู้บริหารบริษัท Loro piana ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สำคัญ ผลิตเสื้อผ้าสำหรับประเทศในอากาศหนาว เจ็ดเดือนที่ผ่านมาได้ไปเปิดสาขาพารากอนจึงเป็นอีกเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับ Loro Piana บริษัทมีความเข้าใจด้านแฟชั่นไทย นายกรัฐมนตรีจึงได้นำเครื่องจักสาน และผ้าย้อมครามของโครงการดอนกอยมานำเสนอ ปัจจุบันหากมีการเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ร้านค้ามักจะเปิด Pop-up Store เป็นร้านชั่วคราวในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว
ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีหารือกับ นายคาร์โล คาปาซา ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ เป็นการรวมตัวกันของสินค้าแบรนด์ไฮเอนของอิตาลี เป็นสมาคมที่แน่นแฟ้นมีการพูดคุยกันตลอดเวลาโดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีเอ็กซ์ซิบิชั่น โรงเรียนสอนที่มิลาน พร้อมพูดคุยให้พานักเรียนไทยมาเรียนต่อที่อิตาลี และช่วยเหลือไทยในการจัดแฟชั่นโชว์ลักษณะเดียวกับมิลานแฟชั่นโชว์ ให้นำดีไซเนอร์ที่กำลังมีชื่อเสียงและเป็นรุ่นต่อไปที่มีชื่อเสียงไปไทย
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พบหารือผู้บริหารบริษัท Leitner ซึ่งเป็นบริษัทผลิตกระเช้าลอยฟ้า ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งมีระบบการก่อสร้างที่ใช้เวลาเพียงหกเดือน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในการทำรถกระเช้าจะมีช่วงการผ่านป่าสาธารณะจึงเป็นประโยชน์กับไทย ซึ่งบริษัททราบว่าประเทศไทยมีความสนใจที่จะทำกระเช้าลอยฟ้าภูกระดึง อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะต้องทำการศึกษาความคิดเห็นจากประชาชนก่อน นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า อาจจะต้องปรึกษาทางบริษัทว่านอกเหนือจากภูกระดึงยังมีความสนใจที่จังหวัดใดอีกบ้าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นตัวเลือกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ภารกิจสุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย ซึ่งเป็นแคว้นที่มี GDP สูงที่สุดในอิตาลี มีความสำคัญในด้านเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ และมีการพูดคุยกันเพื่อสนับสนุนการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้เอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลีจะทำงานร่วมกับประธาน TTR และเลขาธิการ BOI จัดทีมงานเสนอแนะการลงทุนในไทยว่าไทยมีมาตรการสนับสนุนยังไงบ้าง โครงการสำคัญ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการที่ ส.ว. ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีโดยได้กล่าวว่า เชื่อว่า ส.ว. ทำหน้าที่นิติบัญญัติเช่นเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ความชอบธรรมความถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามกลไกการปกครอง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไม่เคยละเลยเสียงท้วงติงพร้อมตอบคำถามและปรับปรุง และได้กล่าวถึงโควตารัฐมนตรีในตำแหน่งที่ยังเหลือว่างอยู่ว่า เป็นโควตาในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งยังต้องพูดคุยกับหัวหน้าพรรค ในการทำงานด้วยกันต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
นายกฯ หารือผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
เวลา 16.30 น. (เวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ห้อง Scala ชั้น 1 โรงแรม Park Hyatt Milan นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นายอัตตีลีโอ ฟอนตานา (Mr. Attilio Fontana) ผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย โดยเมื่อเสร็จสิ้นการหารือ นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีและผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย ต่างยินดีที่ได้พบหารือกันในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสในการพูดคุยเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมแคว้นลอมบาร์เดียในฐานะเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวนมาก และมี GDP ที่สูงที่สุดในอิตาลี และโดยไทยพร้อมมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการลงทุน
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือด้านการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากแคว้นลอมบาร์เดียในการผลักดันภาคเอกชนให้พิจารณาย้ายฐานการผลิต หรือเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาการเกษตรอัจฉริยะ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและมีการลงทุนเพื่อผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจากต่างชาติจำนวนมาก และพร้อมรับการลงทุนจากภาคเอกชนอิตาลี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด รวมถึงพลังงานน้ำ ซึ่งแคว้นลอมบาร์เดียมีความเชี่ยวชาญ และมีโรงงานผลิตพลังงานสะอาดจำนวนมาก ทั้งสองฝ่ายจึงอาจพิจารณาโอกาสในการลงทุนร่วมกัน ซึ่งไทยพร้อมดูแลและอำนวยความสะดวกการลงทุน ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการด้านวีซ่า ซึ่งอิตาลีอาจพิจารณาตั้ง สำนักงานระดับภูมิภาค (Regional Headquarters: RHQ) ในไทยได้ ด้านผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดียพร้อมพิจารณาโอกาสการลงทุนและศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันในด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผู้แทนการค้าไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะจัดทีมประเทศเยือนแคว้นลอมบาร์เดียเพื่อพบหารือ ผู้ประกอบการชาวอิตาลี พร้อมนำเสนอโครงการสำคัญของไทย Mega Project ทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการ Landbridge และโครงการสำคัญต่าง ๆ ของไทยไปนำเสนอ เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดียยินดีอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะหารือกัน โดยเชื่อมั่นว่าการพบกันจะเป็นโอกาสสำคัญในการเพิ่มความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ
และในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการดำเนินธุรกิจ ประเทศไทยพร้อมเปิดรับการลงทุน และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันอย่างเต็มที่