In News
ข้อเท็จจริง!การจัดฉีดวัคซีนและการผลิต วัคซีนของจีน
การบริหารจัดการการฉีดวัคซีนในจีน จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จีนเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มากที่สุดในโลก โดยฉีดไปแล้ว 342 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ราว 11.6 % สำหรับวัคซีนที่ฉีดในจีน คือ Sinopharm (รัฐวิสาหกิจจีน) และ Sinovac (เอกชนจีน)
จีนตั้งเป้าหมายที่จะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมสัดส่วนถึง 40% ของจำนวนประชากร (ประมาณ 560 ล้านคน) ภายในครึ่งปี 2564 นี้ และคาดว่า ภายในปีหน้า 2565 การฉีดวัคซีนของจีนจะบรรลุ มาตรฐานสากลในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ herd immunity นั่นคือ ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรในจีนมากถึง 900 ถึง 1,000ล้านคน ในการบริหารจัดการด้านการฉีดวัคซีน ทางการจีนมีนโยบาย "ฉีดวัคซีนฟรี” ให้แก่ประชากรจีนทุกคน โดยแบ่งการจัดสรรวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มประชากรผู้สูงวัยและผู้ที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มประชากรทั่วไป
ตั้งแต่ 3 มกราคม 2564 จีนเริ่มฉีดวัคซีนที่ผลิตเองให้ชาวจีนทั่วไป และรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีน โดยกำหนดให้ต้อง “ลงทะเบียน”ล่วงหน้า เพื่อการจัดการ data อย่างเหมาะสม และจีนจัดลำดับความสำคัญเร่งฉีดให้เมืองชั้นหนึ่งก่อน เนื่องจากมีประชากรกระจุกตัวมาก และได้รับความร่วมมือจาก ประชาชนค่อนข้างดีพอสมควร ทั้งนี้ ในบางพื้นที่อาจจะมีชาวจีนที่ไม่ค่อยกระตือรือร้นจะไปฉีดวัคซีน รัฐบาลท้องถิ่นบางพื้นที่จึงสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้มารับการฉีดวัคซีน เช่น แจกไข่ ขนม นมสด คูปองลดราคาสินค้า เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนการ “ลงทะเบียน” เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนในจีนก็ไม่ยุ่งยาก ชาวจีนสามารถเลือกลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตามสะดวก โดยมี 2 ลักษณะหลัก คือ (1) การลงทะเบียนผ่านองค์กรที่สังกัด/บริษัทที่ทำงาน และ (2) การลงทะเบียนด้วยตัวเองในเขตพื้นที่ที่ตนพักอาศัย ที่มีการติดประกาศเป็น QR code ให้ลงทะเบียนออนไลน์จองคิว เพื่อไปรับบริการฉีดวัคซีนในสถานที่ใกล้ที่พักหรือที่ทำงาน ตามวันเวลาที่นัดหมาย และจะมีข้อความ msg ส่งมาเตือนในมือถือด้วยเมื่อถึงวันนัด
หลังจากลงทะเบียนเสร็จ ข้อมูลด้าน health code ส่วนตัวจะอัพเดตข้อมูลทันที และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะมีเลขประจำตัวลงทะเบียนผู้รับการฉีดและหมายเลขวัคซีนที่ได้รับการฉีดนั้นๆ
แม้จีนจะมีประชากรจำนวนมากหลักพันล้านคนและมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดการ เนื่องจากจีนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการจัดการด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ big data และสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการวัคซีน มีการตั้งศูนย์ป้องกัน และควบคุมโรคระดับชาติ ระดับมณฑล ระดับเทศบาลและกระจายไปยังระดับเขตพื้นที่ มีสถาบันทางการแพทย์ และหน่วยฉีดวัคซีนที่ให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล มีสร้างระบบข้อมูล data platform ตั้งแต่การจัดเก็บวัคซีน การลงทะเบียนเข้าออกของวัคซีน การขนส่งวัคซีน รวมไปถึงการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนหลัง ที่สมบูรณ์แบบ ที่สำคัญ จีนใช้การจัดการ data เพื่อบริหารจัดการด้านอุปสงค์และอุปทานของวัคซีน ให้เป็นไปตามแผนความต้องการวัคซีนของแต่ละมณฑล/เขต/ท้องที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อทำการผลิต/จัดหาวัคซีนและจัดส่งไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามความต้องการโดยใช้วิธีการที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับแต่ละกรณีของความต้องการ มีการเร่งการหมุนเวียน และตอบสนองต่ออุปสงค์ความต้องการกับอุปทานการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดสรรวัคซีนให้ได้อย่างเพียงพอ
การผลิตวัคซีนของจีน จีนให้ความสำคัญกับการคิดค้นผลิตวัคซีนเพื่อใช้เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ฟาดฟันกับไวรัสร้ายเพื่อเอาชนะวิกฤตครั้งใหญ่นี้ จนถึงขณะนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จีนผลิตได้เองมี 5 ราย ที่ได้รับการอนุมัติออกสู่ตลาด โดยมีเงื่อนไขหรือใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยแบ่งเป็น - วัคซีนชนิดเชื้อตาย 3 ชนิด
-วัคซีนเวกเตอร์อะดีโนไวรัสวัคซีน (vector Adenovirus) 1 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติออกสู่ตลาดโดยมีเงื่อนไข
-วัคซีนป้องกันโควิด-19 (เซลล์ CHO) 1 ชนิด ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
ในกรณีของ Sinopharm เป็นวัคซีนเชื้อตายที่ได้ผ่านการรับรอง จากองค์การอนามัยโลก WHO แล้ว และเป็นวัคซีนของรัฐวิสาหกิจจีน คือ China National Biotec Group (CNBG) ซึ่ง CNBG ได้มอบหมายให้ 2 บริษัทจีนไปทำการผลิต คือ อู่ฮั่น Wuhan Institute of Biological Products และปักกิ่ง Beijing Institute of Biological Products เพื่อไปทำการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดภายใต้ชื่อ Sinopharm
สำหรับวัคซีนเชื้อตาย Sinovac จะเป็นการผลิตจากบริษัทเอกชนจีน และมีการส่งออกไปหลายประเทศ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ประธานบริษัท Sinovac ได้กล่าวในงาน BOAO FORUM ว่า “ทางบริษัทได้ผลิตวัคซีนทั้งหมด 260 ล้านโดส ส่วนใหญ่เพื่อการส่งออกในสัดส่วน 60 % และอีก 40% ของการผลิต Sinovac ใช้เพื่อฉีดให้ชาวจีน (นั่นคือ ประมาณ 104 ล้านโดส)
จีนยังคงคุมเข้ม “ขาเข้า”
ในการจัดการควบคุมการระบาดของไวรัสร้ายนี้ จีนใช้กลยุทธ์การป้องกัน และควบคุมที่มุ่งเน้น "ป้องกันการนำเข้ามาจากภายนอก และป้องกันการ ระบาดระลอกใหม่จากภายใน" ดังนั้น ทางการจีนยังคงระมัดระวัง “ขาเข้า”จากการเดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด จนถึงขณะนี้ (พฤษภาคม 2564) จีนยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติเดินทางเข้าจีน ยกเว้นกรณีจำเป็นตามเงื่อนไข และเมื่อเดินทางมาถึงจีน ต้องกักตัวในสถานกักกันที่รัฐกำหนดประมาณ 14-21 วัน (ขึ้นอยู่กับแต่ละเมือง) และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง (รัฐบาลจีนไม่จ่ายให้)
ทั้งนี้ จีนได้จัดฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ทำงานในจีน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลจีนได้เริ่มเปิดให้ต่างชาติที่ทำงาน อย่างถูกต้องตามกฎหมายในจีน และมีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต่างๆ จะได้รับการฉีดวัคซีนด้วย และหากมีประกันสังคมในจีน จะได้รับการฉีดฟรี (ในกรณีต่างชาติที่ไม่มีประกันสังคมจีนและต้องจ่ายเองประมาณเข็มละ 90 กว่าหยวน) โดยต้องนัดล่วงหน้าลงทะเบียนผ่านองค์กรที่ตนสังกัด/ทำงานด้วย ตัวอย่างชาวต่างชาติในจีนที่รับการฉีดวัคซีนแล้ว เช่น ไทย แอฟริกา เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงชาวฝรั่งชาติตะวันตกที่ทำงานในจีน ศูนย์ฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติ อาจจะไปตั้งในโรงพยาบาลเอกชนของจีน เนื่องจากมีทีมงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้และสะดวกกับการให้บริการ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นแล้ว และประชาชนสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้นแล้ว หากแต่รัฐบาลจีนก็ยังคงเน้นให้ทุกคนยังต้องปฎิบัติตัวตามกฎการควบคุมโรคอย่างจริงจังต่อไป
Timeline จีนจัดการวิกฤตโควิด-19
23 มกราคม 2563 จีนใช้ความเฉียบขาดในการประกาศ lockdown ปิดเมืองอู่ฮั่นที่มีประชากร 11 ล้านคน เน้น “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” อย่างเด็ดขาด
14 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการระบาด จีนประกาศห้ามเดินทางข้ามมณฑล รอจนสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว จีนค่อยๆ คลายทีละปม ทยอยผ่อนคลาย เปิดให้เดินทางทีละจุด อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
8 เมษายน 2563 ยกเลิกการ lockdown เมืองอู่ฮั่นที่ถูกปิดเมืองมานานถึง 76 วัน !!! 14 กรกฏาคม 2563 เริ่มอนุญาตให้เดินทางข้ามมณฑลได้
3 มกราคม 2564 จีนเริ่มฉีดวัคซีนที่ผลิตเองให้ชาวจีนทั่วไปกว่า 73,000 คนในสถานที่ฉีดวัคซีนกว่า 220 แห่งในกรุงปักกิ่ง และเร่งฉีดวัคซีนให้ชาวจีนในเมืองอื่นๆ ตามมา รวมทั้งฉีดให้ชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยและทำงานในจีน
1 พฤษภาคม 2564 วันที่ชาวอู่ฮั่นถอดหน้ากาก !!! ชาวอู่ฮั่นกว่าหมื่นคนสามารถไปร่วมงานเทศกาลดนตรี เข้าชมคอนเสิร์ตได้โดยไม่ต้องสวมใส่หน้ากาก
11 พฤษภาคม 2564 จีนเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มากที่สุดในโลก โดยฉีดไปแล้ว 342 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ราว 11.6 % สำหรับวัคซีนที่ฉีดในจีน คือ Sinopharm (รัฐวิสาหกิจจีน) และ Sinovac (เอกชนจีน)
ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ในการพิชิตโควิด-19 คนจีนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้เต็มที่ และด้านเศรษฐกิจ จีนสามารถเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้น และสามารถเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกเพียงรายเดียวที่เติบโตเป็นบวกได้ 2.3 % ในปี 2563 ในขณะที่ เศรษฐกิจของมหาอำนาจประเทศอื่นล้วนเติบโต ติดลบ
โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น