In Thailand
สสส.-มสส.ร่วมสื่อฯเชียงใหม่ถกPM2.5 ซัด!ห่วงอำนาจ-ปิดบัง'ศก.พังปีละหมื่นล.
เชียงใหม่-สสส.-มสส.จับมือสื่อมวลชนเชียงใหม่ เปิดเวทีทุกฝ่ายถกปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5ทั้งอบจ.เชียงใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์มช. สภาลมหายใจเชียงใหม่ ชี้กระทบทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ นักท่องเที่ยวลดลงทุกปีเสียรายได้ปีละหมื่นล้านบาท งานวิจัยระบุสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ทุกฝ่ายเรียกร้องเลิกทำงานเป็นแท่ง กระจายอำนาจชุมชน มีการวิจัยสาเหตุที่ชัดเจนอย่าโทษชาวบ้านอย่างเดียว ภาครัฐอย่าปิดบังความจริง พร้อมเรียกร้องนายกรัฐมนตรีใช้งบกลางคัดกรองมะเร็งปอดและเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพของประชาชน
วันที่ 29 พฤษภาคา2567 ที่ห้องท่าแพ โรงแรมอโมร่า ท่าแพจ.เชียงใหม่มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป เรื่อง “PM 2.5 ... ปัญหาซ้ำซากภาคเหนือไร้ทางแก้จริงหรือ?โดยมี นายมนตรี ตระกูลสมบัติ หน.ศูนย์ข่าวภาคเหนือ โมเดิร์นไนน์ทีวี บมจ.อสมท. เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารมวลชน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)กล่าวเปิดการประชุมว่านับว่าเป็นโอกาสดีที่สื่อมวลชนจ.เชียงใหม่และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสสส.เสริมพลังสื่อมวลชนร่วมขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะร่วมกันจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัญหามลพิษทางออากาศจาก PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ งานวิจัยลงตีพิมพ์ในวารสารราชภัฏเชียงใหม่ที่ศึกษาผลกระทบของPM 2.5 ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 สัญชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดโดยใช้จ.เชียงใหม่และกทม.เป็นตัวแทนนักท่องเที่ยวที่เกิดปัญหามลพิษทางอากาศช่วงปี 2557ถึง ปี 2561 พบว่าปัญหาPM 2.5 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงโดยเฉพาะในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หากดัชนีค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยรายเดือนจะทำให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ลดลง 106,060 คน สอดคล้องกับตัวเลข ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่ลดลงเช่น ปี2561 มีนักท่องเที่ยว จำนวน 10.84 ล้านคน ปี2562 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 11 ล้านคน แต่ในปี 2565 นักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 5.9 ล้านคนและปี 2566ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวน 7.7 ล้านคน
ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพนั้นองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าอัตราการตายประชากรโลกมีความสัมพันธ์กับความเป็นพิษทางอากาศ โดยทุกๆ 10 ไมโครกรัมของฝุ่น PM 2.5 มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุ 1 ใน 8 ของประชากรโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สอดคล้องกับการวิจัยผลกระทบมลพิษต่อสุขภาพในพื้นที่อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่พบว่าการตายรายวันและความเจ็บป่วยของประชาชนสัมพันธ์กับปัญหาหมอกควันในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของปี 2559 และปี 2560 ข้อมูลจากหลายองค์กรระบุตรงกันว่าภาคเหนือมีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นทั้งๆที่อัตราการสูบบุหรี่ลดลง การประชุมในวันนี้นอกจากได้ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สภาลมหายใจเชียงใหม่และผู้แทนสื่อมวลชนเชียงใหม่แล้ว จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
ผศ.พญ.พุดตาน วงศ์ตรีรัตนชัย รองคณบดีด้านสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่าปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด หัวใจ สมอง ตา ส่งผลต่อทารกในครรภ์ การได้รับฝุ่นพิษ PM 2.5 ทุก ๆ 22 ไมโครกรัม เฉลี่ย 20 ชั่วโมง จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก จากตัวเลขที่มีการรวบรวมค่าเฉลี่ย PM 2.5 รายวัน ในตัวเมืองเชียงใหม่ ตลอดเดือนมีนาคม 2562 โดยเฉพาะในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2562 คนเชียงใหม่ทุกเพศทุกวัยสูบบุหรี่ไปคนละ 18 มวน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้รับรู้แนวทางปฏิบัติตัวตามระดับของฝุ่น PM 2.5 ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ไม่ได้เกิดโรคมะเร็งปอดอย่างเดียว แต่ยังมีผลต่อสมองของเด็กและผู้ใหญ่ด้วย ก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า สมาธิสั้น พัฒนาการช้าลง และ IQ ต่ำลงในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่มีผลต่อโรคสมองเสื่อมทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดสมองตีบและแตก มีผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ระบุชัดเจนว่า ฝุ่น PM 2.5 ทำให้เลือดกำเดาไหล เพราะมีผลต่อช่องจมูก ส่งผลให้ตาแดงอักเสบ ส่วนอัตราการตายจากมะเร็งปอดแยกรายภาค ตั้งแต่ปี 2553 – 2562 ภาคเหนือมีอัตราการตายจากมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่น ซึ่งเป็นผลมาจาก ฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าเชียงใหม่ติดอันดับเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก แต่เมื่อเกิดปัญหา PM 2.5 ทำให้เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละ 10,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวยกเลิกเที่ยวบิน 50-60 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุของปัญหาหมอกควันพิษ PM 2.5 มาจากหลายสาเหตุทั้งการเผาในที่โล่ง ไฟป่า การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ประกอบกับที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่มีสภาพเป็นแอ่งกะทะทำให้การแก้ปัญหายากมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นเอกภาพเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากซึ่งในระยะหลังเริ่มดีขึ้นเพราะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ทุกระดับทั้งระดับจังหวัด อำเภอและตำบล
สำหรับบทบาทของอบจ.เชียงใหม่ในการแก้ไขปัญหานั้นนายพิชัยกล่าวว่ามีหลายมิติคือ ทั้งการให้ใช้สถานที่จัดตั้งเป็นศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด อบจ.เชียงใหม่ เป็นที่แรกของประเทศไทยที่ให้งบประมาณสนับสนุนแก่มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จ.เชียงใหม่ต่อเนื่องทุกปีเช่นปี 2564 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 13.67 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 10.87 ล้านบาท และปี 2567 จำนวน 10.99 ล้านบาท นอกจากนั้นยังสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆเช่นเครื่องมือทำแนวกันไฟ อากาศยานไร้คนขับ เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศพร้อมจอแสดงผลทั้งจังหวัด 250 เครื่อง มอบเรือตรวจการณ์ในพื้นที่ป่ารอบเขื่อนแม่กวงอุดมธารา การแจกหน้ากาก N 95 ให้กับประชาชน มีการล้างถนน ติดตั้งเครื่องพ่นละอองฝอยเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ พร้อมกันนั้นยังมีการจัดทำระบบข้อมูลและการสื่อสารเผยแพร่เช่นโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์รายงานสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเก็บบันทึกข้อมูลชุมชนและศูนย์วิชาการของจังหวัดเพื่อดำเนินการตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสมในการกำจัดเชื้อเพลิงในแต่ละวัน มีการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ PM 2.5 รวมทั้งจัดทำApplication และอบรมการใช้เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูลและให้ประชาชนแจ้งเบาะแสต่างๆด้วย
นายชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ เชียงใหม่ กล่าวว่าการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกันทั้งด้านคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและเชื่อมโยงไปถึงต่างประเทศ ปัญหาโลกร้อนและผลประโยชน์ทับซ้อน กุญแจสำคัญคือการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยใช้มิติทางสังคมควบคู่กฎหมาย จากข้อมูลสถานการณ์ปี 2567 จุดความร้อนจากไฟไหม้ ของเชียงใหม่ดีขึ้นแต่ยังไม่เป็นตามเป้าที่จะให้ลดลง50% แต่สิ่งที่ยังไม่น่าพอใจก็คือ จำนวนวันของคุณภาพอากาศที่เกินค่ามาตรฐานถึง 87 วันก็ถือว่ายังมากอยู่ ดังนั้นการสรุปบทเรียนต้องวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังลงลึกไปถึงเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ของเชียงใหม่และภาคเหนือว่าเพราะเรามีระบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางทำงานเป็นแท่งในจังหวัดมีหน่วยงานส่วนกลางอยู่ 157 หน่วย ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลอีก 23 หน่วย และมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 211 หน่วย ทำให้การบูรณาการแผนและงบประมาณมีข้อจำกัด ต่อมาคือการบริหารสถานการณ์ภายใต้พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณะภัยยังทำงานเชิงรับถ้ามีอุบัติภัยจึงจะสามารถใช้งบประมาณใช้คนใช้เครื่องจักรได้ และเรายังมีความล่าช้าของการวางแผนแม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีการวางแผนตั้งแต่ต้นปี2566แต่กว่าแผนจะเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายนทำให้งบประมาณล่าช้าจนต้องใช้เงินจากส่วนกลาง ดังนั้นแผนทุกอย่างควรจบในเดือนตุลาคม และเดือนธันวาคมต้องมีงบประมาณชัดเจนแล้ว
ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่กล่าวอีกว่ายังมีปัญหาพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศทับซ้อนพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าที่มีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานจึงควรจะใช้รูปแบบเดียวกันกับการแก้ปัญหาเขตป่าสงวนที่มีพ.ร.บ.ป่าชุมชนรองรับทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้ดีขึ้น ส่วนการกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วมแม้จะทำได้ดีแต่ยังไม่ลงลึกถึงชุมชนโดยเฉพาะประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในป่ายังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง นอกจากนั้นควรมีการวิจัยที่ชัดเจนว่าเหตุปัจจัยของการเผาคืออะไรไม่ควรแก้ปัญหาตามความรู้สึกหรือมีอคติว่าชาวบ้านเผาเพื่อหาเห็ด หาหน่อไม้ ล่าสัตว์ และควรมีกฎหมายหรือมาตรการจัดการกับบริษัทที่ไปลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อป้องกันการเผาในที่โล่งรัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมืองมีแผนที่ชัดเจนและสุดท้ายขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีจัดสรรงบฯกลางเพื่อคัดกรองมะเร็งปอดโดยทันทีโดยเพิ่มสิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งปอดในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการโดยเร็ว
นางอุบลนัดดา สุภาวรรณ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนในเรื่อง PM 2.5ว่าสื่อจะรวบรวมข้อมูลนโยบายจากส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่มานำเสนอเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ ช่วยกันเป็นหูเป็นตามีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เช่น ผลการวิจัย การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากหน่วยงานและกลุ่มนักวิจัยหรือนักเคลื่อนไหวต่างๆ เพิ่มความถี่ในการนำเสนอข่าว ตอกย้ำว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขโดยพยายามขยายประเด็นการนำเสนอที่หลากหลายมิติ เช่นการดำรงชีวิตการแก้ปัญหา การปรับตัวและการป้องกันตนเองของคนทำงานในด้านการท่องเที่ยวการเกษตรภาคประชาชนนักวิจัยเจ้าหน้าที่ของรัฐบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลและวิธีการแก้ปัญหาของต่างประเทศ หรือการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว สิ่งที่สื่อมวลชนอยากเรียกร้อง คือ ขอให้จังหวัดให้ข้อมูลที่เป็นความจริงกับสื่อมวลชน อย่างสร้างภาพและกลัวว่าข่าว PM 2.5 จะกระทบต่อการท่องเที่ยว แลกกับผลกระทบทางสุขภพาของคนเชียงใหม่ คุ้มกันหรือไม่ เราไม่อยากให้ผู้นำมาสร้างภาพ เช่น การปั่นจักรยาน การนั่งริมแม่น้ำปิง หรือการแจกหน้ากากอนามัย แต่อยากให้มีการวางแผนและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน สื่อมวลชนพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่บางครั้งข้อมูลมามาถึงสื่อ ในวอร์รูม สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าไปร่วมประชุม
ทางด้านสื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความเห็น นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว รองประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าทุกอย่างแก้ได้อยู่ที่ตั้งใจจะแก้มากน้อยแค่ไหน ขอเสนอให้สถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการวิจัยเชิงลึกว่าต้นเหตุของการเผาใครเป็นคนเผา เผาเพราะอะไร รวมถึงแสดงตัวเลขให้เห็นว่า รายได้จากปลูกข้าวโพดในแต่ละปีกับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเผาเป็นอย่างไร นายศักดา แซ่เอียว การ์ตูนนิสต์ “เซีย ไทยรัฐ” กล่าวว่า เพิ่งมาอยู่เชียงใหม่เห็นแล้วตกใจว่าปัญหามันรุนแรงมองไม่เห็นท้องฟ้า มีแต่สีเทาเต็มไปหมด เสียดายทำไมเชียงใหม่กลายเป็นอย่างนี้ไปได้ ตนได้รับผลกระทบเป็นไข้นอนซมไป 7 วัน เรื่องนี้จะต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ลำพังนักการเมืองและชาวบ้านยังไม่พอ ต้องคุยกับเพื่อนบ้านและเป็นนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ เกิดปัญหาตรงไหนก็ต้องแก้ที่ต้นตอ ส่วนสื่อมวลชนก็ต้องช่วยให้ความรู้ ความจริง และเผยแพร่สู่ประชาชน
นางณัชชา อุตตะมัง บรรณาธิการ สำนักข่าวนอร์ทพับลิคนิวส์ กล่าวว่า ตนเองลงพื้นที่ติดตามปัญหามาตั้งแต่ฝุ่น PM 10 จนถึง PM 2.5 ได้เห็นปัญหาว่ารุนแรงแค่ไหน แต่จังหวัดและรัฐบาลปิดบังข้อมูลทำให้ประชาชนเห็นว่าสถานการณ์ไม่เลวร้าย ทั้ง ๆ ที่ปัญหามีความรุนแรงจึงอยากให้บอกความจริงกับประชาชน และเมื่อมีแผนแล้วก็มักจะไม่ทำตามแผน ที่ผ่านมามีการมอบรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แต่ข้อเท็จจริงพื้นที่นั้นมีไฟไหม้เยอะ ขอตั้งคำถามว่าให้รางวัลไปได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงอุปกรณ์และการป้องกันของประชาชนก็ยังไม่ดีพอ มีการทำห้องลดฝุ่น 2,000 กว่าห้อง แต่ทำได้จริง 1,800 ห้อง ทั้งที่ประชากรในนจังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่ 1,700,000 คน ส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงอีก 3,000 กว่าคนเข้าไม่ถึง เช่นเดียวกับหน้ากากป้องกันฝุ่น เมื่อถึงเวลาก็ไม่มีหน้ากากแจก ขอเพิ่มก็ไม่ได้
นางกัญญานันท์ ตาทิพย์ ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) ภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า ในฐานะเป็นภาคีที่ทำงานเรื่องการปกป้องสุขภาพด้านแอลกอฮอล์ เห็นด้วยที่ต้องมีแผนสนับสนุนอย่างชัดเจน ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่มีปัญหา แต่ควรจะเป็นแผนทั้งปี อย่างน้อยก็มีหมู่บ้านที่ปลอดการเผาในจังหวัดเชียงใหม่ 31 หมู่บ้านในนั้นควรทำให้ชาวบ้านตระหนักว่าถ้าไม่เผาแล้วจะทำอย่างไร และถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นส่งให้รัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ต่อไป สคล. ก็จะเพิ่มประเด็นในการรณรงค์ในเรื่องนี้ด้วย
สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ได้กล่าวขอบคุณวิทยากรและสื่อมวลชน พร้อมสรุปว่าข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีประชุมจะนำไปสู่การผลักดันมาตรการต่างๆเช่น การวางแผนสนับสนุนการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่และสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆและข้อเท็จจริงที่ถูกต้องให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจปัญหาและปรับตัวเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตลอดจนรู้จักวิธีป้องกันอันตรายจากฝุ่นpm2.5