In News
นายกฯย้ำกับนักลงทุนสหรัฐฯ'ไทยพร้อม' เปิดรับการลงทุนไม่มีเวลาไหนดีไปกว่านี้
กรุงเทพฯ-นายกฯ ย้ำชัดกับนักลงทุนสหรัฐฯ ไทยพร้อม “เปิดรับการลงทุน และไม่มีเวลาไหนดีไปกว่านี้ที่จะลงทุนในไทย”ร่วมเดินหน้าไปสู่บทใหม่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองไปสู่อนาคต
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2567) เวลา 09.10 น. ณ Mövenpick BDMS Wellness Resort กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม Thailand-U.S. Trade and Investment Conference 2024: “Building on a Longstanding Partnership” ซึ่งจัดโดยหอการค้าไทย หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (The American Chamber of Commerce - AMCHAM) และหอการค้าสหรัฐอเมริกา (the U.S. Chamber of Commerce – USCC) ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณความเป็นหุ้นส่วนที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างกัน พร้อมขอบคุณคำแนะนำเชิงนโยบาย ซึ่งนายกฯ ได้นำแนวคิด “Five to Thrive” ซึ่ง AMCHAM แนะนำมาพิจารณา และมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีย้ำชัดถึงข้อความที่ตั้งใจบอกไปยังนานาประเทศตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง “ประเทศไทยเปิดพร้อมรับการลงทุน และไม่มีเวลาไหนดีไปกว่านี้ที่จะลงทุนในไทย” “Thailand is open for business, and there is no better time to invest in Thailand” ความร่วมมือกับผู้ประกอบการทั่วโลกทำให้รัฐบาลมีความก้าวหน้าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงการสนับสนุนการทำธุรกิจ (ease-of-doing-business) ผ่านการทบทวนกฎหมาย เปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล และกระบวนการที่ไร้รอยต่อ (streamlined processes) เช่น BOI ขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate income tax : CIT) ออกไปอีก 3- 5 ปี สำหรับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค ในปี 2566 BOI ได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 12.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนถึง 47%
แม้ว่าตัวเลขจะเป็นบวก แต่รัฐบาลยังต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่ออนาคตประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand วางแผนงานประเทศในการเป็นศูนย์กลางใน 8 ภาคส่วนหลัก การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพเกษตรกรรมและอาหาร การบิน โลจิสติกส์ ยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน
นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงวลี “Trade flies the flag” กับนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่ New York สะท้อนความร่วมมือตั้งแต่วันแรกของสองประเทศได้เป็นอย่างดี ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีสนธิสัญญา the Treaty of Amity and Commerce กับสหรัฐฯ เมื่อปี 1833 และตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมาการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันแข็งแกร่งและเติบโตต่อเนื่องในทุกมิติของความร่วมมือทวิภาคีแทบไม่มีมิติไหนที่ไทยไม่ร่วมมือกับสหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรียังคงมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมกับสหรัฐฯ ทั้งระดับทวิภาคีและผ่าน IPEF เพื่อขยายความร่วมมือและการลงทุน และเพื่อจัดการกับความท้าทายสมัยใหม่เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ คำถามสำคัญคือ บทต่อไปของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร?
นายกรัฐมนตรีเห็นภาพความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มองไปสู่อนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ กล่าวถึง วิสัยทัศน์ Ignite Thailand เพื่อเชื่อมโยงกับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ
หนึ่ง โลจิสติกส์ ด้วยที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของไทย รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไกลออกไป รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ Landbridge และเมื่อรวมกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ใหม่ จะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์จากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดีย และช่วยยกระดับการเชื่อมโยงการขนส่งทางบก และทางทะเล และเสนอโอกาสภายใต้ภูมิทัศน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองใหม่
สอง การบิน ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการบินทั้งผู้โดยสารและสินค้า รัฐบาลกำลังเร่งสร้างสนามบินใหม่ และพัฒนาสนามบินที่มีอยู่ทั่วประเทศ สนามบินในกรุงเทพมีการเพิ่มประสิทธิภาพครั้งใหญ่ สร้างอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้แห่งใหม่ การขนส่งแบบ cold chain และการขนถ่ายสินค้าใหม่ และรันเวย์เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุผู้โดยสารทั้งหมดจาก 60 ล้านคนเป็น 150 ล้านคน และมีแผนสร้างสนามบินนานาชาติล้านนา ในภาคเหนือ และสนามบินนานาชาติอันดามัน ภาคใต้ รวมถึงเพิ่มอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานทางทะเล (Sea Plane) เพื่อทางเลือกในการคมนาคม และในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสีเขียว ไทยกำลังพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuels : SAF) โดยใช้วัตถุดิบที่มีผสมผสานกับองค์ความรู้ของสหรัฐฯ จึงเสนอเชิญชวนนักธุรกิจสหรัฐฯ ให้ใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้
สาม ดิจิทัล ด้วยอินเทอร์เน็ต 5G ที่ครอบคลุม โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง และประชากรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค จึงขอเชิญสหรัฐฯ เข้ามาร่วมสนับสนุนในด้านต่างๆ อาทิ AI, Data Center ระบบนิเวศดิจิทัลอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจน พัฒนาทักษะแรงงานรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
สี่ ยานยนต์แห่งอนาคต ความยั่งยืนยังคงเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล การเปลี่ยนผ่านสีเขียวเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ท้าทายที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลได้วางแผนงานที่ครอบคลุมเพื่อให้สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2583 ไทยมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งระบบห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม EV จึงขอเชิญชวนสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุน และสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศ EV ที่ครอบคลุมและเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแห่งในอนาคต ประเทศไทยกำลังทำการสำรวจไฮโดรเจนสีเขียว ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี (battery storage solutions) เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (carbon capture, utilization & storage: CCUS) และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล (Small Modular Reactor : SMR) เพื่อช่วยให้การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ห้า การท่องเที่ยว การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนเป็นการลงทุนเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในอนาคตให้แข็งแกร่ง วิสัยทัศน์ Ignite Tourism Thailand 2025 จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก โดยรัฐบาลกำลังปรับปรุงระบบการขอวีซ่า เพื่อให้การเดินทางเข้าประเทศง่ายขึ้น เพิ่มความคล่องตัวให้กับทั้งนักท่องเที่ยว และนักเดินทางเพื่อธุรกิจ
ประเทศไทยเปิดและพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้ของสหรัฐฯ บทใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงถึงกัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มองไปสู่อนาคต เป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น แต่ประเทศไทยพร้อม !!!
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วิสัยทัศน์สำหรับอนาคตประเทศของไทย สอดคล้องกับข้อแนะนำ “Five to Thrive” ตอนนี้ขอให้มาร่วมเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันนี้ไปสู่การปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีเชื่อในการสนับสนุนของทุกคนว่าจะช่วยยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯไปอีกระดับ รัฐบาลพร้อมรับฟังและทำงานร่วมกัน เช่นที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดเสมอว่า สิ่งใดควรทำ จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ (what should be done, will be done)