Biz news
สถาบันวิจัยSINTEF-นอร์เวย์ร่วมอินทรีฯ เสนอลดการรั่วไหลขยะพลาสติกสู่ทะเล
กรุงเทพฯ-7 มิถุนายน 2567, กรุงเทพฯ – เผยความคืบหน้าโครงการการจัดการพลาสติกในมหาสมุทรให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน (OPTOCE) พร้อมผลการศึกษาศักยภาพของประเทศไทย ชี้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการกำจัดขยะพลาสติกคุณภาพต่ำ หรือพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทรได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดการณ์ว่ากระบวนการเผาร่วม (co-processing) ของโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เหล่านี้สามารถลดการใช้ถ่านหินและช่วยป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อย 100,000 ตันต่อปี มุ่งหน้าสู่การแก้ไขปัญหาขยะที่ยั่งยืนและเป้าหมายสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
โครงการ OPTOCE จัดตั้งโดยสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งนอร์เวย์ (SINTEF) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนาเพื่อต่อสู้กับขยะและไมโครพลาสติกในทะเลของรัฐบาลนอร์เวย์ มุ่งศึกษาและหาแนวทางในการกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทร โดยมีความร่วมมือในการดำเนินโครงการวิจัยในหลายประเทศ รวมทั้ง 4 ชาติพันธมิตรในเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย และเวียดนาม ศึกษาขยะพลาสติกหลากหลายชนิดที่ไม่สามารถรีไซเคิล หรือมีมูลค่าต่ำไม่คุ้มทุนในการนำไปรีไซเคิลในปริมาณมาก รวมถึงค้นหาโอกาสและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมซีเมนต์ในการบริหารจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยและทั่วภูมิภาค เพื่อหาแนวทางกำจัดที่เหมาะสมและสามารถแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการในประเทศไทย สถาบันวิจัย SINTEF ได้ร่วมมือกับ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล ทำการศึกษาศักยภาพของกระบวนการนำพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ โดยนำขยะพลาสติกที่ได้จากการรื้อร่อนหลุมฝังกลบมาผลิตเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF: Refuse Derived Fuel ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ โดยทำการทดสอบในเงื่อนไขที่แตกต่างกันเพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบกับวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเทคนิคต่าง ๆ รวมทั้งค่าความร้อนและการตรวจวัดค่ามาตรฐานโดยละเอียด ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยมีศักยภาพอย่างมากในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรั่วไหลของขยะลงสู่มหาสมุทร
ดร.คอเร เฮลเก คาร์สเตนเซน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการโครงการ OPTOCE จากสถาบัน SINTEF แห่งนอร์เวย์ กล่าวว่า “ขยะพลาสติกจำนวนประมาณ 13 ล้านตันรั่วไหลสู่ทะเลและมหาสมุทรทุกปี และได้มีส่วนในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ สถานะทางเศรษฐกิจ และสุขภาพของทุกคน หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ คาดว่าปริมาณขยะพลาสติก จะเพิ่มขึ้นถึงอีกสามเท่าภายในปี 2583 ทั้งนี้การร่วมมือปฏิบัติการระหว่างประเทศถือเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางก่อนที่จะรั่วไหลไปสู่ทะเลและมหาสมุทร โดยสำหรับโครงการศึกษาในประเทศไทย ได้ทำการศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม 2566 นำขยะพลาสติกปริมาณมากที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ (Non-recyclable plastic waste : NRPW) จากการรื้อร่อนหลุมฝังกลบเก่าที่ปิดดำเนินการแล้วนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประโยชน์ที่ได้จากการรื้อร่อนหลุมฝังกลบหรือบ่อขยะ และเก็บข้อมูลการดำเนินงานในปัจจุบัน โดยกระบวนการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ หรือ Co-processing มีข้อดีหลายอย่าง โดยเฉพาะในการนำมาช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เพราะการเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์ สามารถช่วยทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำขยะพลาสติกมาใช้เสริมร่วมกันกับถ่านหินในเตาเผาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ สามารถลดการพึ่งพาการใช้แหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล โครงการศึกษานำร่อง 16 โครงการได้ทำการศึกษาร่วมกับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ใน 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย และเวียดนาม โดยนำขยะพลาสติกหลายชนิดที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ปริมาณมาก มาทดสอบความเป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคนิคและสิ่งแวดล้อม จากการทดสอบพบว่าการนำขยะพลาสติกมาเผาร่วมในเตาเผาผลิตปูนซีเมนต์ ไม่ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสารพิษ รวมถึงค่าไดออกซิน สู่บรรยากาศ โรงงานผลิตปูนซีเมนต์เหล่านี้สามารถช่วยป้องกันขยะพลาสติกรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อย 650,000 ตันต่อปี ในขณะเดียวกันยังช่วยลดการใช้ถ่านหินได้ 350,000 ตันต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ”
ล่าสุดสถาบันวิจัย SINTEF จากนอร์เวย์ และ อินทรี อีโคไซเคิล ได้ร่วมจัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “โครงการจัดการพลาสติกในมหาสมุทร ให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE)” ภายในงานมีการเปิดเผยข้อมูลโดยรวมของโครงการ OPTOCE โดยมุ่งเน้นศักยภาพและผลการศึกษาของประเทศไทย รวมทั้งวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐร่วมแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านจัดการขยะตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สถานการณ์ขยะในทะเลและแนวทางการจัดการขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัยและภาคการศึกษา กลุ่มผู้ผลิตสินค้าและภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมงาน
นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทและเข้าร่วมโครงการนี้กล่าวว่า “การจัดการขยะพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำไม่คุ้มทุนในการนำมารีไซเคิล หรือไม่สามารถรีไซเคิลได้ ด้วยเทคโนโลยีเผาร่วมของเสียในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-Processing of Waste Materials in Cement Kiln) เป็นกระบวนการที่บูรณาการจัดการของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำพลังงานความร้อนจากขยะกลับมาใช้ใหม่ หรือ Energy Recovery ซึ่งเป็นแนวทางที่หมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ปัจจุบันปัญหามลพิษจากขยะ เกิดจากการบริหารจัดการขยะเพื่อนำกลับมาสู่วงจรรีไซเคิลหรือกลับมาใช้ใหม่ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการบริโภค ขยะที่เหลือส่วนใหญ่ยังบริหารจัดการไม่ถูกต้องและรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ธุรกิจของอินทรี อีโคไซเคิล เรามองว่า “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” เราต้องบริหารจัดการอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด การนำขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้เป็นพลังงานความร้อนทดแทน นอกจากภาคอุตสาหกรรมอย่างกลุ่มผู้ผลิตปูนซีเมนต์สามารถนำพลังงานความร้อนจากขยะกลับมาใช้ใหม่ได้และลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินแล้ว ยังช่วยลดความต้องการพื้นที่บ่อขยะ หรือหลุมฝังกลบเพิ่ม รวมทั้งป้องกันไม่ให้พลาสติกรั่วไหลไปยังทะเลและมหาสมุทรได้อีกด้วย
สำหรับอินทรี อีโคไซเคิล ได้ร่วมในโครงการ OPTOCE ตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยชุมชน หรือ เชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากบ่อขยะชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังร่วมดำเนินโครงการต่าง ๆ กับพันธมิตรด้านความยั่งยืน เช่น โครงการ Drop-off และเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วที่มีมูลค่าต่ำหรือไม่นำไปรีไซเคิล โดยเฉพาะพลาสติกหลายชั้น และ ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว นำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะเพื่อเป็นส่วนช่วยในการช่วยลดมลภาวะในทะเล ” นางสาวสุจินตนากล่าว