In Bangkok

กทม.สั่งเดินหน้าป้องกันและแก้ไขปัญหา ยาเสพติดระยะเร่งด่วน3เดือน



กรุงเทพฯ-(12 มิ.ย. 67) เวลา 13.00 น. นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวดิ่งด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.ข.) ครั้งที่ 3/2567 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเขต 50 เขต สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักพัฒนาสังคม และสำนักการศึกษา ร่วมประชุม ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

รองปลัดฯ ชาตรี กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ว่า เพื่อเร่งรัดนำผู้มีอาการทางจิตเวชเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ลดปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ชุมชน จัดระเบียบสังคม ลดปัญหาการก่อเหตุความรุนแรง  พร้อมได้สั่งการให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ภายใน 26 มิถุนายน 2567 และให้ทุกหน่วยงานรายงานผลรายสัปดาห์

การประชุมครั้งนี้เป็นการนำเสนอแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2567) ซึ่งมี 9 แนวทางปฏิบัติ 4 ตัวชี้วัด จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง เด็ดขาด เห็นผลรูปธรรม ภายใน 90 วัน โดยสำนักงาน ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ได้กำหนดพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรง 25 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติสำเร็จตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็จะมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่บกพร่องและละเลยในการปฏิบัติ ในการนี้ กรุงเทพมหานคร เป็น 1 ใน 25 จังหวัดเป้าหมาย 

สำหรับ 9 แนวทางปฏิบัติ 4 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย
1. การบริหารจัดการกลไก ศอ.ปส.จ./กทม. และศป.ปส.อ./เขต
2. การบูรณาการข้อมูลเพื่อกำหนดเป้าหมายลดปัญหาในระยะเร่งด่วน
3. การลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด
4. การลดปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน
5. การพัฒนาศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม
6. การปราบปรามนักค้ายาเสพติดและยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด
7. ป้องกัน/ป้องปรามปัจจัยเสี่ยง
8. การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
9. การสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาายาเสพติด

ในส่วนของข้อกำหนด 4 ตัวชี้วัดภาพรวม ได้แก่
1. กลุ่มเป้าหมายถูกดำเนินการและได้รับการแก้ไขปัญหา
2. สถานการณ์ปัญหายาเสพติดลดลงทุกจังหวัด
3. ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการดำเนินงานในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น
4. ความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น