Biz news

สภาอุตฯแปดริ้วชี้รง.เจ๊ง!ลอยแพลูกจ้าง เหตุขาดการรวมกลุ่มทำธุรกิจแบบพึ่งพา



ฉะเชิงเทรา-สภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา ชี้เหตุโรงงานลอยแพลูกจ้างจากขาดการรวมกลุ่มร่วมดำเนินธุรกิจแบบพึ่งพา เผยมีช่องทางช่วยเหลือเอาตัวรอดจากเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่รัฐบาลยุคลุงตู่เคยจัดตั้งไว้เมื่อปี 2558 กู้ได้ในวงเงินมากถึง 10 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าภาคเกษตรกรรมเพียงร้อยละ 2.99 บาทต่อปี มองนโยบายเดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 เป็นเป้าล่อแรงงานต่างชาติพุ่งเข้ามาแย่งงานคนไทย บอกจ้องปรับขึ้นโดยไม่ถามคนจ่าย

วันที่ 14 มิ.ย.67 เวลา 16.30 น. นายสุกัณฑ์ โสรัจจกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงกรณีโรงงานผลิตหลอดไฟ LED ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตุเวย์ซิตี้ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา บอกเลิกจ้างพนักงานจำนวน 104 คนโดยที่ยังไม่มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง จนมีการรวมตัวเข้ามาร้องเรียนต่อทางหน่วยงานภาครัฐในตัว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั้น

เนื่องจากประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ทั้งที่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นยังมีช่องทางที่ผู้ประกอบการจะสามารถเอาตัวรอดได้ หากผู้ประกอบการรายนั้นได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม ที่มีเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่เคยจัดตั้งขึ้นเมื่อครั้งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2558 หากผู้ประกอบการรายดังกล่าวได้ดำเนินธุรกิจอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ต่อเนื่องมาจนครบ 3 ปีแล้ว

และได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา จะสามารถยื่นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมากกว่าสถาบันการเงินในภาคเกษตรเป็นอย่างมาก เพียงแค่ร้อยละ 2.99 บาทต่อปี และยังสามารถผ่อนชำระได้ในระยะเวลานานถึง 7 ปี จากเดิมเมื่อช่วงการก่อตั้งมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ร้อยละ 1 บาทเท่านั้น โดยที่เงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในส่วนของ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น มีอยู่ประมาณ 100 ล้านบาทแต่แทบจะไม่มีผู้กู้

นอกจากปัญหาด้านการขาดแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจแล้ว ลักษณะของการประกอบธุรกิจยังเป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ไม่พึงพากัน หากมีการเข้ามารวมกลุ่มกันหรือเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อสร้างโอกาสจากการพึ่งพากัน แบบพี่ช่วยน้องหรือเพื่อนช่วยเพื่อน เช่น หากโรงงานแห่งดังกล่าวขาดแคลนแรงงานก็จะสามารถจัดหาแรงงานจากโรงงานที่กำลังจะปรับลดจำนวนพนักงานลงได้ ในขณะเดียวกันหากโรงงานแห่งนี้ต้องการปลดคนงานออกเพื่อลดภาระ คนงานก็ยังสามารถไปทำงานต่อยังโรงงานในกลุ่มสมาชิกแห่งใหม่ ที่มีความต้องการแรงงานได้

และในส่วนของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ได้จากการผลิตในโรงงานแห่งนี้ เช่น หลอดไฟแอลอีดี ก็ยังเป็นที่ต้องการของโรงงานอื่นๆ ที่เป็นสมาชิก ที่ต้องการปรับเปลี่ยนหลอดไฟจากแบบเก่ามาใช้หลอดไฟ LED ในโรงงานแบบใหม่ที่ประหยัดไฟกว่า หากมีการพึ่งพาและสามารถเจรจาตกลงราคากันได้ในราคาที่ถูกลง จะทำให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งอีกฝ่ายได้ขายสินค้าและอีกฝ่ายได้สิ่งของที่ต้องการในราคาที่ถูกลงกว่าในท้องตลาด เพราะได้ซื้อผลิตภัณฑ์โดยตรงมาจากโรงงาน

นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมที่มีการแปรรูปหรือเกี่ยวเนื่องกัน ยังจะสามารถดำเนินธุรกิจแบบพึ่งพากันได้ โดยเป็นการซื้อวัตถุดิบที่ต้องใช้กันภายในกลุ่ม จะยิ่งทำให้เกิดความแข็งแกร่งในการประกอบธุระกิจโดยที่จะไม่ล้มลงโดยง่าย เพราะอย่างน้อยจะมีการซื้อขายสินค้ากันภายในกลุ่ม แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจกันไปแบบต่างคนต่างอยู่ไม่เข้ามารวมกัน จึงทำให้ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา มีสมาชิกเพียง 110 ราย จากผู้ประกอบการที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจำนวน 1,726 ราย จากทั้งหมดกว่า 2 พันแห่ง

แต่อย่างไรก็ตามหลังตนได้เข้ามารับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ได้พยายามหาสมาชิกเพิ่ม เพื่อสร้างการรวมกลุ่มแบบพึ่งพาเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจมาอย่างจต่อเนื่อง จากเดิมที่มีสมาชิกน้อยที่สุดในกลุ่มจังหวัดอีอีซี (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) เพียงประมาณ 70 กว่ารายเพิ่มขึ้นมาเป็น 110 รายในปัจจุบัน และทำให้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นแซง จ.ระยอง ที่มีสมาชิกประมาณ 80 กว่ารายจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมากถึงกว่า 3.2 พันแห่งขึ้นมาเป็นลำดับที่ 2 

ส่วน จ.ชลบุรี นั้นยังคงครองลำดับที่ 1 โดยที่จังหวัดที่มีสมาชิกสภาอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศ คือ จ.สมุทรปราการ ที่มีสมาชิกจำนวน 400 กว่าราย จากการที่เรามีสมาชิกหรือมีการรวมกลุ่มกันน้อย จึงทำให้การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือกันนั้น ทำได้ไม่สะดวกหรือไม่ตรงกับความต้องการของแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งในครั้งนี้ทางสภาอุตสาหกรรมได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือด้วยการ ให้ผู้ประกอบการผู้เป็นสมาชิกที่ขาดแคลนแรงงานหรือต้องการแรงงานได้เข้ามารับคนงานที่ถูกเลิกจ้าง

แต่ปรากฏว่า โรงงานแห่งดังกล่าวนั้นอยู่ไกลคนละพื้นที่กัน แรงงานจึงไม่ได้รับความสะดวกที่จะเดินทางมาทำงานยังในต่างอำเภอ การช่วยเหลือดังกล่าวจึงไม่ตรงกับความต้องการของแรงงาน ซึ่งหากเรามีสมาชิกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และต้องการแรงงาน ก็จะสามารถช่วยเหลือแรงงานที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบได้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมไห้มากๆ เพื่อที่จะได้เป็นการรวมกลุ่มพึ่งพากัน และยังจะได้รับโอกาสต่างๆ อีกมากมาย 

รวมถึงยังจะได้องค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย เนื่องจากในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรานั้น ยังมีโรงงานที่ยังไม่คีย์เข้าระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingle Form) อย่างถูกต้องอีกมากถึงกว่า 400 แห่ง   

ส่วนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ทั้งในส่วนตัวและจากการพูดคุยกับทางหอการค้าและผู้ประกอบการท่องเที่ยวรวมถึงด้านอื่นๆ แล้ว ไม่เห็นด้วย โดยเป็นการปรับโดยที่ไม่ได้ถามคนจ่าย ซึ่งเรานั้นเป็นผู้จ้างเป็นผู้จ่ายแต่กลับไม่ได้ถามจากเราสักคำว่าเราพร้อมหรือไม่ โดยเป็นแต่คำสั่งจากทางด้านบนลงมาว่าให้ปรับขึ้น ทั้งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำของ จ.ฉะเชิงเทรา นั้นอยู่ที่ 350 บาทมาก่อนหน้าและจ่ายให้มากกว่า 400 บาทอยู่แล้วตามความรู้ความสามารถ

 การปรับขึ้นค่าแรงจึงควรที่จะปรับขึ้นเป็นไปตามเลเวล หรือกลไกของผู้จ้างที่จะพิจารณาไปตามความสามารถของแรงงาน มากกว่าการประกาศให้ปรับขึ้นในลักษณะนี้ ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นในสังคม ทำให้แรงงานต่างด้าวไหลทะลักเข้ามาแย่งงาน แย่งอาชีพคนไทยทำโดยจะเห็นได้ตามท้องตลาด คล้ายกับเป็นการไปเอื้อให้แรงงานต่างชาติเข้ามามากกว่า เพราะใครก็อยากได้ค่าแรง 400 บาทจากไทย จึงพากันลักลอบเข้ามา และสร้างปัญหาส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย จึงเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับคนไทย นายสุกัณฑ์ กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา