Biz news

ดร.สุวิทย์ชี้BCGเครื่องใหม่นำพาศก.ยั่งยืน เปลี่ยนแข่งขันสู่สร้างสรรค์ทางการค้า



กรุงเทพฯ-ในการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 14 (Leadership for Change-LFC#14) ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสัมมาชีพ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย มาถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อสร้าง “กรอบความคิด” ที่ถูกต้องและทันยุค เพื่อนำไปปรับใช้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้น

กรอบความคิดที่ใช่ และแนวทางปฏิบัติที่ใช่ ตามความเห็นของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือBCG Economy Model

โดยดร.สุวิทย์ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand in the New Global Landscape: BCG as Thailand New Growth Engine”ว่า กรอบความคิดเดิมในการพัฒนาเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยมายาวนาน ไม่สามารถตอบโจทย์ “ความอยู่รอด” ในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคตได้อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อถูกวิกฤติสิ่งแวดล้อมไล่ล่า จนเกิดความไม่สมดุล (Imbalance) ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งเป็น “รากฐานของปัญหา”ที่นำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม “ต้องทำความเข้าใจว่ากรอบความคิดของโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตจากความโลภ (Greed toGrowth – Growth to Greed)ยิ่งโลภ ยิ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการแข่งขันกันใช้ทรัพยากรมหาศาล จนเกิดการตีกลับของผลกระทบ อย่างที่โลกเผชิญวิกฤติโลกเดือด Global Warming ในปัจจุบันและจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

ดังนั้นจะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอด จึงนำมาสู่การเปลี่ยนกรอบความคิด สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยความยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs)และสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ของในหลวง ร.9”

ในมุมมองของ ดร.สุวิทย์ ซึ่งเป็นนักคิด นักการตลาดเชิงกลยุทธ์ การถอดรหัสกรอบความคิดดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ (In Action)  “BCG EconomyModelคือคำตอบ” 

สำหรับเขาแล้ว BCG EconomyModel หรือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio- Circular –GreenEconomy)ที่ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจบนความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็น “เครื่องยนต์ใหม่” (New Engine) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงเศรษฐกิจโลก สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่คำถึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังเป็นการ “เปลี่ยนมุมมอง” ของการแข่งขันแบบเดิม ไปสู่การสร้างสรรค์ทางการค้า (Trade Creation) เป็น People Power  ไม่ใช่ Market Power

บนหลักคิดของการนำความหลากหลายของแต่ละประเทศซึ่งมีไม่เหมือนกัน มาเป็นจุดแข็ง-เสริมแกร่งสร้างความร่วมมือ ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ 

“ประเทศไทยต้องหันกลับมามองจุดแข็งของตัวเอง แทนที่จะไปแข่งขันกับคนอื่น เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่งมีจุดแข็งไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกัน แต่เป็นเรื่องที่นำมาเสริมกัน มาร่วมมือกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่เป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก เพื่อทำให้โลกในอนาคตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประโยชน์สุข ปกติสุข และสันติสุข มีสัมมาทิฎฐิ”

ดร.สุวิทย์ ยังบอกด้วยว่า ในมุมมองการนำความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมไทยมาใช้ ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังสอดคล้องกับหลักคิด “การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” ซึ่งเป็นปณิธานของมูลนิธิสัมมาชีพ เพราะแต่ละท้องถิ่น (Area Based) ของไทย ล้วนมีความหลากหลายที่แตกต่างกัน กลายเป็นชุดของ “โอกาส” และ “ศักยภาพ” ที่แตกต่างกัน เป็นเสน่ห์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งหากผลักดันความเข้มแข็งนี้ให้ขยายวงกว้างออกไป จะเผยให้เห็นพลังมหาศาลที่ซ่อนตัวอยู่ในท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากฐานรากของพิรามิดซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิด GDP ในเชิงคุณภาพ” ซึ่งยั่งยืนที่สุด 

นอกจาก BCG Economy Model จะสามารถแก้โจทย์ ใน “มิติของเศรษฐกิจ” และ “มิติทางสิ่งแวดล้อม” แล้ว “ดร.สุวิทย์” ยังบอกด้วยว่า เมื่อ 2 มิตินี้ดี ย่อมมีส่วนผลักดัน “มิติทางสังคม” ทำให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น มีความสุขในการใช้ชีวิต ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น เกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ตามมา

โดยเฉพาะใน “มิติด้านการเมือง” เมื่อคนในระดับท้องถิ่นเกิดการมีส่วนร่วม จะทำให้เกิดการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ตัวเองมี กลับมาพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง ทำให้แรงงานคืนถิ่น เศรษฐกิจเกิดการกระจายตัว

มิติทางการเมืองจึงหมายถึงการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ แทนการกระจุกตัวอยู่กับรายใหญ่ ลงมาสู่รายย่อย สู่วิสาหกิจชุมชน เมื่อคนกินดีอยู่ดี มี “สัมมาชีพ” ก็จะเกิดประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจที่มาจาก BCG  ซึ่งในที่สุดก็เติบโตคู่ขนานกับระบบประชาธิปไตยเชิงการเมือง

ทั้งหมดนี้คือ การให้ภาพใหญ่ (Big Picture) ในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ ด้วยเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งได้ผลลัพธ์ตอบโจทย์ใน 4 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง

เมื่อผู้อบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง มองเห็นภาพใหญ่ (Big Picture) จะเกิดการเชื่อมโยงว่า ในวิกฤติ (ความไม่สมดุล) ย่อมมีโอกาส (ความสมดุล) เสมอ “ดร.สุวิทย์” ระบุเช่นนั้น 

“หน้าที่ของผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงต้องมองภาพใหญ่ให้ได้ และสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริง

ผู้นำที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเท่านั้น แต่คือการเปลี่ยนหัวใจมนุษย์จากตัวตนเป็นความร่วมมือ เก่งคนเดียวไม่ได้ จะวิ่งได้นานต้องวิ่งไปด้วยกัน” 

สำหรับความร่วมมือในเรื่องของ BCG นั้น “ดร.สุวิทย์” ทิ้งท้ายว่า ที่สุดแล้วคือการสร้างความสมดุล (Balance) พอดี ลงตัว ที่ผ่านมาสิ่งที่ไม่สมดุลคือมนุษย์ มนุษย์ไม่สมดุลกับธรรมชาติ มนุษย์ไม่สมดุลกับมนุษย์ และตอนที่น่ากลัวขณะนี้คือ มนุษย์เริ่มไม่สมดุลกับเทคโนโลยี ความไม่สมดุลนี้เป็นปัญหาที่รอให้ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง เข้าไปช่วยกันทำให้เกิดความสมดุล

เมื่อมีความสมดุล พอดี ลงตัว เมื่อนั้นจึงจะยั่งยืน