Think In Truth
'ชัยมงคลคาถา'คำสอนเอาชนะเหนือโลก : โดย ฟอนต์ สีดำ
เวลาที่เราไปทำบุญที่วัดเราก็จะได้ยินพระสวดชัยมงคลคาถาทุกครั้งที่พระเจริญพุทธมนต์ หรือแม้แต่เราสวดมนต์เองที่บ้าน บทหนึ่งที่เราต้องสวดคือบทพาหุง หรือชัยมงคลคาถา รวมทั้งนักเรียนที่สวดมนต์ทุกวันหน้าเสาธง ก็จะมีการสวดบทพาหุงสั้นกันอยู่บ่อยๆ หรืออาจจะทุกวัน แต่ทุกคนที่สวดก็ได้แต่สวด โดยไม่ได้รู้และเข้าใจว่าสวดไปทำไม บางคนก็มองว่าเป็นคาถาสำคัญที่จะทำให้ชีวิตมีความเจริญ ซึ่งความเชื่อนี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่กระแสแห่งธรรม แต่ก็ยังคงติดอยู่ที่ความงมงาย บทสวดชัยมงคลคาถาเต็มบท มีใจความเต็มดังนี้
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง,ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง, โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง, ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง, ธาวันติโย ชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
กัตตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา, จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง, วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง, ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
ทุคคาหะ ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง, พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท, ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญฯ
ซึ่งในบทสวดนี้ ได้เอ่ยถึงมารทั้งแปดประการ ซึ่งประกอบด้วยพระยามาร ยักษ์ พระเทวทัต องคุลีมาล นางจิญจมาณวิกา พวกนิครนถ์หรือผู้นำศาสนาอื่นที่ยึดถือพระเจ้า พญานาคนันโทปนันทะ และท้าวผกาพรหม โดยนัยะของการสวดบทนี้เพื่อที่จะให้ผู้สวดหรือผู้ฟังธรรมได้เข้าใจว่า มารทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรานี้ มีทั้งหมดอยู่ 8 อย่างนั่นเอง และวิธีที่จะเอาชนะ มารทั้ง 8 นั้นก็ได้บอกแนวทางไว้แล้วในบทสวดนั้น ซึ่งพอที่จะอธิบายได้ดังนี้
ในบทที่ 1 เป็นเหตุการณ์ช่วงผจญมาร ซึ่งมีเรื่องว่าในวันตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระยามารยกพลเสนามารใหญ่หลวงมา พระยามารผู้นิรมิตแขนได้ตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมข พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องมา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถเอาชนะพญามารได้ด้วยการระลึกถึงบารมีทั้ง 30 ทัศ ที่ทรงเคยลำเพ็ญมาในอดีต พระยามารในบทนี้นั้นหมายถึง โมหะจริต ความอยากได้ในสิ่งของ เงินทอง ทรัพย์สิน ที่ดินหรือลาภอื่นๆที่ไม่ใช่ของๆตน ซึ่งโมหะจริตนั้นจะเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะยาก ดี มี จน หรือเจ้าอาณาจักร ซึ่งในยุคพุทธกาลก็มีการยกทัพไปแย่งชิงดินแดน ล่าอาณานิคม เพื่อเอามาอยู่ในอาณัติของตน มารในบทนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ผ่านการผจญมารมาแล้วและเอาชนะได้ด้วย บารมี 30 ทัศ ซึ่งประกอบด้วย ทานบารมี คือการบริจาคทาน ศีลบารมี คือการรักษาศีล เนกขัมมบารมี คือ การออกจากเรือนหรือออกบวชบำเพ็ญ ปัญญาบารมี คือ ความรู้ วิริยบารมี คือ ความเพียร ขันติบารมี คือ ความอดทนพยายาม สัจจบารมี คือความจริง อธิษฐานบารมี คือการตั้งความปรารถนา เมตตาบารมี คือความเมตตา อุเบกขาบารมี คือ ความวางเฉย ซึ่งบารมีทั้งสิบนี้มีระดับของบารมีสามระดับ คือ ระดับบารมีทางสิ่งของ ระดับบารมีทางการ และระดับบารมีด้วยชีวิต ทั้งสามระดับจึงรวมกันได้ 30 ทัศ ซึ่งเป็นบารมีที่เหนือกว่ามารทั้งปวง
ในบทที่ 2 เรื่องเล่าว่า มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่ออาฬะวกะ เป็นผู้มีจิตกระด้างและมีกำลังยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง อาฬะวกะยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความยับยั้ง พยายามเข้ามาประทุษร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตลอดรุ่ง แต่พระองค์ก็สามารถปราบทิฏฐิของยักษ์ตนนี้ลงได้ มารในบทนี้หมายถึง โทสะ ความคิดประทุษร้าย ทำลาย ซึ่งเอาชนะได้ด้วยความไม้กลัว มีความบริสุทธิ ตั้งมั่นในกุศลกรรม
ในบทที่ 3 มีเรื่องว่าเมื่อพระเทวทัตทรยศต่อพระพุทธเจ้า ได้จัดการให้คนปล่อยช้างสาร ที่กำลังตกมันชื่อนาฬาคีรี เป็นช้างเมามัน โหดร้ายเหมือนไฟไหม้ป่า มีกำลังเหมือนจักราวุธ เพื่อมาทำร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อช้างมาถึง ด้วยพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทำให้ช้างนาฬาคีรี ได้สติและทำความเคารพต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มารในบทนี้คือ โมหะ ความหลง มัวเมา พระองค์ทรงเอาชนะได้ด้วยความมุ่งมั่นในการยึดถือซึ่งสัจจธรรมแห่งความบริสุทธิ
ในบทที่ 4 เป็นเรื่องขององคุลีมาลซึ่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี ท่านเทศน์เอาไว้ใน 69 กัณฑ์ อย่างที่เรารู้กันแพร่หลาย คือ องคุลีมาลนั้นอาจารย์บอกไว้ว่า ถ้าฆ่าคนและตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นสร้อยคอ ให้ได้ครบพัน ก็จะมีฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่ องคุลีมาลฆ่าคนและตัดนิ้วมือได้ 999 เหลืออีกนิ้วเดียวจะครบพัน ก็มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ทรงสามารถทรมานทิฏฐิองคุลีมาลเลิกเป็นโจร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้อมตะวาจาเกิดขึ้น คือ "เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด" และองคุลีมารโจรก็ได้ออกบวชเป็นพระอรหันต์ในที่สุด มารในบทนี้คือ มานะ ความถือตัว พระพุทธองค์ทรงเอาชนะได้ด้วยการสร้างเป้าหมายในความมานะใหม่ที่มีความหวังที่เป็นจริง
ในบทที่ 5 หญิงคนหนึ่งมีนามว่า จิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการวางแผนให้ผู้คนเข้าใจผิด โดยในเวลาเย็นที่ชาวบ้านเดินออกจากวัดเชตวัน นางจืญจมาณวิกา ก็จะเดินเข้าวัดไป และในช่วงเช้าที่ชาวบ้านเข้าวัด ก็จะทำทีเป็นเดินสวนทางออกมา จนระยะเวลาผ่านไปไลานเดือน จึงเอาไม้กลมๆ ใส่เข้าที่ท้องแล้วก็ไปเที่ยวปล่อยข่าวให้เล่าลือว่าตั้งครรภ์กับพระสัมมาสัมพุทธพุทธเจ้า ซึ่งก็ทรงเอาชนะด้วยวิธีสงบ ระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ให้ความจริงปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าเป็นเรื่องกล่าวร้ายใส่โทษพระองค์โดยแท้ มารในบทนี้ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด พระทรงทรงเอาชนะได้ด้วยความจริง
ในบทที่ 6 เป็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชนะสัจจะกะนิครนถ์ ผู้มีนิสัยละทิ้งความสัตย์ใฝ่ใจจะยกย่องถ้อยคำของตนให้สูงประหนึ่งว่ายกธงเป็นผู้มืดมัวเมา เป็นคนเจ้าโวหาร เข้ามาโต้ตอบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์จีงตรัสเทศนาสั่งสอนสัจจะกะนิครนถ์ดังกล่าว มารในบทนี้ หมายถึง วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย พระองค์ใช้ความสามารถในการอรรถาธิบาย ให้เกิดความกระจ่างหายสงสัย
ในบทที่ 7 เป็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปรดให้พระมหาโมคคัลลานะ อัครมหาสาวกไปต่อสู้เอาชนะพญานาคชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีฤทธิ์มาก และมีเล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้มากมาย ซึ่งพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ใช้ฤทธิ์เนรมิตกายเป็นพญานาค ไปปราบนนันโทปนันทะนาคราช ผู้มีฤทธิ์มากให้พ่ายแพ้ไป มารในบทนี้ หมายถือ ถีนะ ความหดหู่ พระองค์เอาชนะได้ด้วยการให้เกียรติ ยอมรับในสถานะแห่งความเป็นพุทธบริษัท
ในบทที่ 8 เป็นเรื่องที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ผกาพรหม ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าสำคัญว่าตนเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยคุณอันบริสุทธิ์ รู้แจ้งโลก โดยผลัดกันซ่อนผลัดกันหา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแปลงกายให้เล็กเท่าธุลีแล้วเดินจงกรมอยู่บนมวยผมของผกาพรหม ในที่สุดเมื่อผกาพรหมหาไม่พบจึงได้ยอมลดทิฏฐิมานะ และฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มารในบทนี้ หมายถึง อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน พระพุทธองค์เอาชนะได้ด้วยการบรรยายธรรมและตอบข้อธรรมให้กระจ่าง และให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการคิด(methodology)ที่ถูกต้อง
จากบทสวดแห่งการเอาชนะมาร ซึ่งเป็นชัยมงคลคาถา เป็นแนวทางในการปฏิบัติตน เพื่อให้ตนเองมีเสรีภาพในการคิด การทำ และการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สังคมเรายังขากในการดำเนินการเพื่อเอาชนะ เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจคุณลักษณะของมาร จึงเอาชนะไม่ได้ การปฏิบัติจึงดำเนินเอาตามความง่าย เป้หมายหรือผลของการปฏิบัติจึงเป็นลักษณะของการลองผิดลองถูก ซึ่งมีความเสี่ยงในเป้าหมายมาก แต่ถ้าหากนำเอาชัยมงคลคาถานี้ มาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเป็นมารในการดำเนินการหรือใช้ชีวิตของเรา เราก็สามารถกำหนดได้ว่า จะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายได้
หรือแม้แต่เราเองเป็นผู้เฝ้าดู ท่านผู้อ่านลองเอาหลักการนี้ไปลองพยากรณ์ดูสถานการณ์ก็ได้ เช่น ระหว่างทักษิณ กับ ฝ่ายต่อต้านทักษิณ ใครจะเป็นฝ่ายบรรลุเป้าหมายของตน โดยเอาหลักของชัยมงคลคาถา ไปเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ และพยากรณ์ล่วงหน้า เราจะสามารถทำนายได้อย่างถูกต้อง