In Bangkok
รองผู้ว่าฯทวิดาเปิดยุทธศาสตร์บูรณาการ สุขภาพดีกทม.ที่พร้อมปรับตัว
กรุงเทพฯ-(19 มิ.ย. 67) เวลา 09.00 น. : รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรหลักในการนำเสนอหัวข้อ “Bangkok’s Vision and Strategy in Public Health Promotion and Pandemic Preparedness in a Context of Urban Resilience” ในกระบวนการหารือเชิงนโยบาย ช่วงที่ 4 ความมีชีวิตชีวาของเมือง : การบูรณาการสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในการวางผังเมืองที่ยืดหยุ่น ภายใต้งาน Toward 2050 : Future Bangkok for a Resilient and a Livable City ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) จัดขึ้น ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึง กรอบงานของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันด้านสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การวางแผนแบบบูรณาการ รวมทั้งแผนรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยกรุงเทพมหานครได้แบ่งออกเป็น 9 ด้าน 9 ดี ได้แก่ 1. ปลอดภัยดี 2. โปร่งใสดี 3. เศรษฐกิจดี 4. เดินทางดี 5. สิ่งแวดล้อมดี 6. สุขภาพดี 7. สังคมดี 8. เรียนดี และ 9. บริหารจัดการดี
นอกจากนี้ กทม. ยังมีจุดบริการด้านสาธารณะสุขในชุมชนที่เข้าถึงง่าย และครบวงจร การทำแผนที่ความเสี่ยงและความเปราะบางในด้านความเสี่ยงภัยประเภทต่าง ๆ อาทิ น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝุ่น PM 2.5 อัคคีภัย โรคระบาด ฯลฯ จากข้อมูลพื้นที่ทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังสนับสนุนการดำเนินงานที่ช่วยลด Carbon footprint อาทิ ลดการใช้ขวดพลาสติกโดยมีตู้กดน้ำสาธารณะ การจัดการขยะแบบครบวงจร การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (สวน 15 นาที) และการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยโครงการจักรยานปันปั่น Share The Road ที่ให้บริการ “ให้ยืม” หรือ “ให้เช่า” รถจักรยานแก่ชาวกรุงเทพ ด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
สำหรับกระบวนการหารือเชิงนโยบายในครั้งนี้ประกอบด้วย การนำเสนอยุทธศาสตร์การบูรณาการสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในการวางผังเมืองที่พร้อมรับปรับตัว กรณีศึกษาจากต่างประเทศที่ทำให้เห็นถึงความเสียหายจากภัยพิบัติ และการเตรียมความพร้อมในการตั้งรับและปรับตัว แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยในเมือง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี