Biz news

ทิศทางพลังงานไทยยอดใช้เพิ่มต่อเนื่อง สวนทางเศรษฐกิจเติบโตแบบชะลอตัว



ฉะเชิงเทรา-ทิศทางพลังงานไทยยอดใช้พุ่งขึ้น ทั้งน้ำมันและพลังงานไฟฟ้า สวนทางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังฝืดเคืองหนัก หลังพบสถิติการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด 19 ระบาดผ่านพ้นไป มีน้ำมันถูกเผาผลาญมากขึ้นถึงร้อยละ 4 ขณะไฟฟ้ามีการใช้เพิ่มมากถึงร้อยละ 12 พร้อมส่งสัญญาณเตือนใหม่ที่จุดพีคการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไป จากช่วงเวลากลางวันเป็นกลางคืน พบสถิติสูงสุดในเวลา 21.00 น.

วันที่ 23 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิ์ภาพการปฏิบัติงานในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย.67 ที่ผ่านมาที่ห้องเกษมสโมสร โรงไฟฟ้าบางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน มาเป็นประธานการเปิดงาน พร้อมมีการบรรยายในหัวข้อ “นโยบายทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงพลังงานในส่วนภูมิภาค ให้แก่บุคคลากรสำนักงานพลังงานจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดในภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว และตราด) ฟัง

โดยระหว่างการบรรยายในบางช่วงของปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีการพูดถึงสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทยในปัจจุบันว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ผ่านพ้นไปแล้ว ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งการใช้ไฟฟ้ามีอัตราเพิ่มขึ้นในทุกๆ เดือนอย่างน่าตกใจประมาณร้อยละ 12-13 เปอร์เซ็นต์ (จาก 35,000 - 36,000 เมกาวัตต์) โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.67 ที่ผ่านมา ซึ่งอาจเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นตามกระแสโลกร้อนในช่วงเวลาดังกล่าว

ส่วนการใช้น้ำมันนั้น มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4-5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการใช้น้ำมันดีเซลที่ประมาณ 70 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนกลุ่มน้ำมันเบนซินมีการใช้อยู่ที่ 30 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้น้ำมันไปมากถึงกว่า 2 แสนล้านหน่วย ส่วนในปี 2567 ที่ผ่านมายังไม่ถึงครึ่งปีมีการใช้น้ำมันทั้งดีเซลและเบนซินไปแล้วกว่า 1 แสนล้านหน่วย

จากสถานการณ์การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ ได้บอกถึงความต้องการและทิศทางของการเติบโตที่จะต้องใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้า ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นของประชาชน บ้านเรือนอยู่อาศัยมีเพิ่มขึ้น ตัวเมืองเกิดการพัฒนา และมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ เช่น การติดตั้งเครื่องปรับอากาศกันมากขึ้น จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น และการใช้เครื่องมือสื่อสารจากการออนไลน์มากขึ้นด้วย 

ขณะเดียวกันในปัจจุบันจุดพีคของการใช้ไฟฟ้าได้เปลี่ยนไป จากเดิมในอดีตก่อนหน้านี้ จุดพีคไฟฟ้าในแต่ละวันมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาบ่าย เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศร้อน ในช่วงเวลานั้น แต่ปัจจุบันจุดพีคของการใช้ไฟฟ้าได้เปลี่ยนไป เป็นช่วงเวลา 21.00 น. ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว ระหว่าง ก.พ.- เม.ย.66 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยมีทั้งโซล่าร์ฟาร์ม โซล่าร์โฟลทติ้ง และโซลาร์รูฟ ที่เพิ่มขึ้นมาก โดยจะเห็นว่ามีการยื่นขอใบอนุญาตเข้ามานับร้อยรายต่อเดือน จนเจ้าหน้าที่ลงตรวจอนุญาตให้ไม่ทัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ถูกลง และมีโมเดลการลงทุนที่หลากหลาย เช่น มีการลงทุนให้ก่อนแล้วผ่อนจ่ายทีหลัง จึงทำให้พีคในช่วงเวลากลางวันนั้นถูกตัดไป 

ขณะเดียวกันข้อมูลตัวเลขผู้ติดตั้งโซล่าร์เซลล์ ยังอาจไม่ตรงกันกับตัวเลขของเรกูเลเตอร์ที่มีอยู่ เช่น ใน จ.ระยอง ที่มีการจดแจ้งขออนุญาตยังไม่ตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ตัวเลขจึงสูงกว่าตัวเลขสถิติของทางการ ซึ่งจะส่งผลต่อการวางแผนด้านพลังงานไฟฟ้า ว่า กฟผ.จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าอีกจำนวนเท่าใดจึงจะเพียงพอ หากสร้างมากเกินไปจะทำให้ต้นทุนสูง และส่งผลมาถึงยังผู้ใช้ไฟฟ้า ที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นด้วย หากสร้างน้อยไปจะทำให้ไฟฟ้าไม่เพียงพอ

โดยพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์นั้นมีราคาที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ เพียงสองบาทเศษต่อหน่วย (2.80 บาท/หน่วย) แต่หากมีการเติมพลังงานทดแทนเข้าไปมากก็อาจทำไม่ได้ เนื่องจากพลังงานทดแทนจากโซล่าร์เซลล์มีศักยภาพมากเฉพาะในเวลากลางวัน หากไม่มีแหล่งกักเก็บพลังงาน จึงต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า พร้อมกับการนำไปสู่กรีนทรานซิชัน แต่ยังต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงอยู่ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 

จึงอยากจะบอกว่าสถานการณ์พลังงานประเทศไทย มีทิศทางการใช้กันเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการพูดกันว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ยังเติบโตช้า แต่จากสถิติการใช้พลังงานของเราบอกมาอย่างนั้น นายประเสริฐ กล่าว 

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับแผนการรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนว่า หากมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทางกระทรวงพลังงานมีแผนการเตรียมการรับมือไว้อย่างไรบ้าง นายประเสริฐ ตอบว่ายังเป็นส่วนน้อยมากและยังไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อภาพรวมด้านความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าในระยะ 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าหลักยังคงมีเหลืออยู่ที่ 14,000 เมกาวัตต์จาก 50,000 เมกาวัตต์ แต่ยอมรับว่าในขณะนี้ทางภาคอุตสาหกรรม ได้มีโรงงานหลายแห่งเริ่มหันมาใช้พลังงานจากโซล่าร์รูฟกันเพิ่มมากขึ้น นายประเสริฐ ตอบต่อผู้สื่อข่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา