Health & Beauty

สุริยะเปิด'เวชศาสตร์ความงามระดับโลก' ย้ำไทยเป็นฮับเวชศาสตร์ความงามโลก



กรุงเทพฯ – 25 มิถุนายน 2567 – สมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย (Thai Cosderm) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ IMCAS (International Master Course on Aging Science) ซึ่งเป็นองค์กรจัดงานประชุมระดับโลกด้านการแพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์พลาสติก เวชศาสตร์ความงาม จากประเทศฝรั่งเศส จัดงานประชุมนานาชาติ “IMCAS Asia 2024 17th Edition and 12th ITCAM” ขึ้น ซึ่งเป็นงานประชุมเวชศาสตร์ระดับโลกที่รวบรวมแพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์ และแพทย์ความงามผู้ทรงคุณวุฒิมากกว่า 315 ท่านจากทั่วโลกมาบรรยายภายในงาน เพื่อตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางทางด้านเวชศาสตร์ความงามระดับโลกของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมเปิดงาน ณ โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ซูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพฯ

สำหรับการประชุมนานาชาติ “IMCAS Asia 2024 17th Edition and 12th ITCAM” ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานเป็นปีที่ 6 ในระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2567 โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ ได้แก่

1.ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ทางด้านเวชศาสตร์ความงามให้แก่แพทย์ไทยและนานาชาติ

2.เสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและตอกย้ำความเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพของวงการเวชศาสตร์ความงามไทย

3.สร้างสายสัมพันธ์แพทย์ความงามผู้ทรงคุณวุฒิจากนานาประเทศผ่านเวทีการประชุมระดับโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

4.ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทางด้านเวชศาสตร์ความงาม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นที่น่าดีใจที่ประเทศไทย, กรุงเทพมหานครของเราได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมระดับโลก IMCAS ASIA 2024 และได้มีโอกาสต้อนรับแพทย์ความงามจากทั่วโลกที่ลงทะเบียนในงานกว่า 2,500 คนอีกครั้ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความพร้อมและความเป็นมหานครชั้นนำของเมืองไทย ทั้งทางด้านความปลอดภัย โครงสร้างสิ่งแวดล้อม การเดินทาง และบรรยากาศแห่งการศึกษาและความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการประชุมวิชาการระดับสากล

อนึ่ง การแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ความงามเป็นสาขาวิชาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นที่สนใจแก่บุคลากรทางการแพทย์จากหลากหลายประเทศ กรุงเทพมหานครของเราถือเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางทางการศึกษาในแขนงวิชานี้และกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นอันดับหนึ่ง ของการเป็น Antiaging and Aesthetic hub of Asia จึงน่าภาคภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์ไทยได้รับโอกาสในการแสดงความสามารถและพัฒนาความรู้ร่วมไปกับแพทย์จากนานาประเทศใน platform การประชุมที่เป็นสากล สอดคล้องกับความเป็น High tech ที่มี High touch สำหรับการดูแลคนไข้ระดับมาตรฐานสูงสุด

ผู้บริหารของสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย ได้แก่ แพทย์หญิงนลินี สุทธิพิศาล นายกสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย และแพทย์หญิงอัจจิมา สุวรรณจินดา แพทย์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง ประธานการจัดงานและฝ่ายวิชาการของสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย และนายแพทย์ไพศาล รัมณีย์ธร กรรมการบริหารและวิชาการของสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า งานประชุมในครั้งนี้ ทางสมาคมได้ร่วมกับ อิมคาส IMCAS (International Master Course on Aging Science) องค์กรจัดงานประชุมระดับโลกด้านการแพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์พลาสติก เวชศาสตร์ความงาม และฟื้นฟูความเสื่อม จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติในรูปแบบ World Congress ทุกปีที่ประเทศฝรั่งเศส โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากสูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ต่ำกว่า 20,000 คนต่อปี  นอกจากนี้ IMCAS ยังได้มีการจัดการประชุมในเอเชีย ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแถบเอเชียที่ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางการจัดงาน  โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมแบบ onsite จากทั่วโลก มากกว่า 2,500 คน รวมถึงมีการจัดแสดงเครื่องมือทางการแพทย์มากกว่า 100 บูท และมีผู้บรรยายจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 315 คน

ภายในงานประชุมวิชาการ ได้มีการอัพเดทข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเทคนิคขั้นตอนการผ่าตัด (การปลูกถ่ายเต้านม การผ่าตัดเสริมจมูก การดูดไขมัน การเติมไขมัน ฯลฯ) และการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด (การสาธิตฉีดฟิลเลอร์ โบท็อก การร้อยไหม เลเซอร์ และ Obesity management and surgery aesthetics, LGBT aesthetic ฯลฯ) มีการถ่ายทอดสด การสอนด้านกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) จากโรงเรียนแพทย์ ในประเทศฝรั่งเศส มายังประเทศไทย โดยเฉพาะการฉีดฟิลเลอร์ ซึ่งแพทย์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจกายวิภาคศาสตร์ของใบหน้า เพื่อที่จะสามารถฉีดได้อย่างถูกต้อง และทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้เข้ารับบริการ เนื่องจากเป็นหัตถการที่สามารถทำให้เกิดอันตราย จากภาวะฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือดทำให้เกิดผิวหนังตาย สูญเสียการมองเห็น หลอดเลือดสมองอุดตัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด การติดเชื้อที่ผิวหนังแบบเรื้อรัง

นอกจากการถ่ายทอดสดการสอนจากฝรั่งเศสแล้ว ภายในงานยังได้มีการบรรยายเกี่ยวกับอนาคตการแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูความเสื่อม (Regenerative medicine) ของประเทศไทย กล่าวได้ว่า การรักษาด้วยเซลล์, ยีน, และเอ็กโซโซม ถือเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ล้ำสมัยที่มีศักยภาพสูงในการก้าวข้ามขีดจำกัดของการรักษาในปัจจุบัน และประเทศไทยได้มีการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านนี้ อย่างไรก็ตามกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูงเหล่านี้นั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยาตามแนวทางของ GMP PIC/S ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมาตรฐานการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเชื่อมโยงกับ ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษาเป็นอย่างมาก ดังนั้น งานประชุมในเวทีระดับนานาชาติจึงมีความสำคัญอย่างมากในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับแพทย์ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการโฆษณาเกินจริงจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้รับบริการ  

ภายในงานยังมีการจัดแสดงเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก รวมถึงยกระดับศักยภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เครื่องมือและการให้บริการทางการแพทย์ให้เทียบเท่ากับระดับสากล