In Global

พิพิธภัณฑ์หูหนานจัดแสดงโบราณวัตถุ ทางวัฒนธรรมสตรีแห่งราชวงศ์ฮั่น



ฉางซา, จีน, 26 มิถุนายน 2567  ในช่วงเช้าของวันที่ 15 มิถุนายน “นิทรรศการโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมของสตรีแห่งราชวงศ์ฮั่นและจักรวรรดิโรมัน” ได้เปิดฉากขึ้นที่พิพิธภัณฑ์หูหนาน โดยมีการจัดแสดงโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติมากมาย หนึ่งในนั้นคือ เสื้อคลุมยาวผ้าโปร่งไม่มีซับในสีธรรมชาติแบบสาบแหลม ซึ่งนำมาจัดแสดงให้สาธารณชนได้ชมเป็นครั้งแรก สำหรับนิทรรศการนี้จะจัดไปจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม

นิทรรศการดังกล่าวร่วมกันจัดโดยพิพิธภัณฑ์หูหนานและสำนักงานบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมโรมัน ภายในนิทรรศการจัดแสดงสิ่งของมากกว่า 200 ชิ้น/ชุด จากพิพิธภัณฑ์ 19 แห่ง ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์หูหนาน และพิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยสิ่งจัดแสดงมีทั้งเครื่องสำริด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเงินและทอง เครื่องแก้ว เครื่องหยก สิ่งทอ และประติมากรรม

นิทรรศการนี้มุ่งนำเสนอชีวิตของสตรีในสามด้านหลัก ๆ ได้แก่ ชีวิตครอบครัว สังคม และอารมณ์ของสตรีทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตกเมื่อ 2,000 ปีก่อน ด้วยการรวบรวมโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมของโลกตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเผยให้เห็นถึงคุณลักษณะทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของสตรีจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และการแสวงหาคุณค่าของความงามร่วมกัน

เสื้อคลุมยาวผ้าโปร่งไม่มีซับในสีธรรมชาติแบบสาบแหลม ที่มีน้ำหนักเพียง 48 กรัม แสดงถึงจุดสูงสุดของเทคโนโลยีสิ่งทอในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก และนับเป็นตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดของเสื้อผ้าชนิดบางเบาที่ถักทอขึ้นจากเส้นไหมที่ไม่ได้ย้อมสี มีปลายแขนและปกเสื้อตกแต่งด้วยผ้าไหม โดยเสื้อคลุมโบราณนี้ขุดพบในบริเวณสุสานหม่าหวังตุย ณ หลุมฝังศพหมายเลขหนึ่งซึ่งเป็นหลุมศพของท่านผู้หญิงซินจุย ภรรยาของหลี่ชาง อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซาในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก โดยท่านผู้หญิงมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2,200 ปีก่อน และเสียชีวิตเมื่ออายุประมาณ 50 ปี

ภายในนิทรรศการยังมีการจัดแสดงโบราณวัตถุอื่น ๆ เป็นครั้งแรกเช่นกัน อาทิ เศษผ้าที่มีลวดลายอ่านได้ว่า “ขอให้มีชีวิตยืนยาวและมีความสุข” ซึ่งพบในกล่องไม้ไผ่กล่องหนึ่งในหลุมฝังศพหมายเลขสามของสุสานหม่าหวังตุย จากกล่องใส่เสื้อผ้าที่มีอยู่สองใบ โดยลวดลาย “ขอให้มีชีวิตยืนยาวและมีความสุข” ถือเป็นตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดของการทอด้วยกี่ทอผ้าในลักษณะนี้

“จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียกภาพเพอร์ซีอุสและแอนโดรเมดา” ซึ่งเป็นสมบัติโรมันอันล้ำค่าจากพิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน ก็ถูกนำมาจัดแสดงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก โดยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมโรมัน กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “จิตรกรรมฝาผนังนี้มาจากช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 4 โดยเล่าเรื่องราวในตำนานเกี่ยวกับวีรบุรุษผู้ช่วยเหลือสาวงาม” ทั้งนี้ วัตถุจัดแสดงจากยุคโรมันจำนวน 138 ชิ้น/ชุด ส่วนใหญ่มาจากพิพิธภัณฑ์คาปิโตลิเน และทั้งหมดจัดแสดงในประเทศจีนเป็นครั้งแรก

ที่มา: พิพิธภัณฑ์หูหนาน