Health & Beauty
'แคริว่า'1ใน8ตัวแทนแบรนด์ประเทศไทย บุกโชว์นวัตกรรมAIทางการแพทย์ที่มิวนิก
กรุงเทพฯ 28 มิถุนายน 2567 – บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ Digital Solution ทางการแพทย์ชั้นนำของไทย ในกลุ่มบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส หรือเออาร์วี (ARV) ร่วมอวดโฉมนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยในงาน Bits & Pretzels health.tech Conference 2024 งานมหกรรมด้านเทคโนโลยีสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ณ นครมิวนิก รัฐไบเอิร์น ประเทศเยอรมนี โดยแคริว่า 1 ใน 8 สตาร์ทอัพไทยสายเฮลท์เทค ที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยได้ร่วมนำเสนอ 3 นวัตกรรม ได้แก่ AI for Lab Interpretation, AI for Medical Voice-to-Text Prescription (Medical ASR) และ AI for Health Self Assessment (Symptom Checker) โซลูชัน AI ด้านเทคโนโลยีการแพทย์พร้อมยกระดับการดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในงานยังได้รวบรวมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลสำคัญในอุตสาหกรรมสุขภาพจากทั่วโลกกว่า 10,000 คน เพื่อเข้าร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างเครือข่าย และร่วมขับเคลื่อนอนาคตของนวัตกรรมการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
นายณรงค์ชัย ลิมป์ปิยาภิรมย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมงาน Bits & Pretzels health.tech Conference 2024 ในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของแคริว่าที่ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพบนเวทีระดับโลก และได้สร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นตลาดเทคโนโลยีการแพทย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยระบบการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูง ประชากรที่เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุม เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้ตลาดการแพทย์ในเยอรมนีมีมูลค่ามหาศาลกว่า 4 แสนล้านยูโรต่อปี และเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีการแพทย์ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะแตะ 5 แสนล้านยูโรภายในปี 2025 พร้อมเป็นที่สนใจสำหรับธุรกิจด้านการแพทย์จากทั่วโลก
พร้อมกันนี้นครมิวนิก เมืองหลวงของรัฐไบเอิร์น ซึ่งเป็นเวทีจัดงานนี้ยังเป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ที่สำคัญของยุโรป โดยมีปัจจัยสนับสนุน อาทิ สถานที่ตั้งของโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย เช่น โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยลุดวิก-แมกซิมิเลียน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก และศูนย์การแพทย์เคเลอร์ ซึ่งล้วนมีแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการผลิตนักวิจัย และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงมากมาย ซึ่งหล่อเลี้ยงให้ระบบการแพทย์ของมิวนิกและเยอรมนีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายณรงค์ชัย กล่าวเสริมว่า การจัดงานครั้งนี้แคริว่าได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก จากทั้งผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และบุคคลสำคัญองค์กรต่าง ๆ จากชาติชั้นนำ ซึ่งแคริว่านำเสนอผลงานด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นเองคือ “AI for Lab Interpretation ซึ่งเป็น AI สำหรับช่วยในกระบวนการแปลผลแล็บจากห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์ผลการตรวจหรือวินิจฉัยภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลโรค และเสนอแนะการตรวจเพิ่มเติมเมื่อจำเป็น AI for Medical Voice-to-Text Prescription (Medical ASR) สำหรับช่วยในการถอดข้อความจากเสียงของแพทย์ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลายขั้นตอนเช่นการใส่ Progression Note หรือ Order และ AI for Health Self Assessment (Symptom Checker) ซึ่งช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคจากอาการที่เป็น โดยปัจจุบันได้เริ่มมีการให้บริการในประเทศไทยในสถานบริการทางการแพทย์ชั้นนำ เช่น โรงพยาบาลในเครือ BDMS และแคริว่า ก็พร้อมที่จะต่อยอดออกสู่ตลาดต่างประเทศ
“สำหรับนวัตกรรม AI for Lab Interpretation, AI for Medical Voice-to-Text Prescription (ASR) และ AI for Health Self Assessment (Symptom Checker) ทั้ง 3 ตัวมีส่วนช่วยอย่างมากสำหรับการวิเคราะห์และตรวจสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ ซึ่งมีความสามารถในการระบุค่าที่ผิดปกติ ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากโรงพยาบาล สามารถวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของโรค การระบุโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ต่อเนื่องไปถึงคำแนะนำในการดำเนินชีวิต หรือการลดความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น และที่สำคัญยังช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ในมิติทางด้านเวลาเนื่องจากการวิเคราะห์ผลตรวจในแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเป็นนวัตกรรมที่ช่วยตอกย้ำความก้าวหน้าธุรกิจการแพทย์ไทยที่ขับเคลื่อนด้วยความแม่นยำ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่คนทั่วโลกให้การยอมรับและเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยอยู่แล้ว
นายณรงค์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันตลาดทางการแพทย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นกับตลาดต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการนำเสนอเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ สามารถช่วยเสริมภาพลักษณ์จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และเป็นตัวแปรสำคัญทางด้านการส่งออกนวัตกรรมออกสู่ตลาดต่างประเทศ จากเดิมที่มีการส่งออกเพียงผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง เครื่องมือแพทย์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีมูลค่าสูงกว่าหลายเท่าตัว
สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.cariva.co.th https://arv.co.th/ เพจเฟซบุ๊ก CARIVA (https://www.facebook.com/CarivaTech) หรือโทร. 02 078 4000