In Bangkok
ดุสิตพาส่องสวนสามสักริมคลองสามเสน เตรียมปิดจ๊อบสวน15นาทีครบ10แห่ง
กรุงเทพฯ-ดุสิตพาส่องสวนสามสักริมคลองสามเสน เตรียมปิดจ๊อบสวน 15 นาทีครบ 10 แห่ง จับตาฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนน่ำเฮงไซต์งานโครงการวันเวลา ณ เจ้าพระยา คุมเข้มผู้ค้าหน้าวัดธรรมาภิรตาราม ชมคัดแยกขยะเรือนรับรองเกษะโกมล
(5 ก.ค. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดุสิต ประกอบด้วย
สำรวจสวน 15 นาที สวนสามสัก ริมคลองสามเสน ถนนนครราชสีมา เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติ ถนนทหาร พื้นที่ 7 ไร่ 2.สวนในคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ถนนสามเสน พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนหย่อม ปตอ. พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมสุนันทา ถนนสามเสน พื้นที่ 700 ตารางเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ 2.สวนสามสัก ริมคลองสามเสน ถนนนครราชสีมา พื้นที่ 130 ตารางเมตร อยู่ระหว่างออกแบบและปรับปรุงพื้นที่ 3.สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าเขียวไข่กา) พื้นที่ 800 ตารางเมตร อยู่ระหว่างจัดทำสวน 4.สวนสรรพาวุธนิเวศน์ พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ 5.สวนริมคลองสามเสน พื้นที่ 120 ตารางเมตร อยู่ระหว่างประสานขอใช้พื้นที่ 6.สวนรถไฟสายเหนือ (ตั้งแต่สะพานดำ-แยกประดิพัทธ์) พื้นที่ 6,400 ตารางเมตร อยู่ระหว่างประสานขอใช้พื้นที่ 7.สวนมหานาค พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการวันเวลา ณ เจ้าพระยา โดยมี บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย จำนวน 5 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 43 ชั้น อาคาร B ความสูง 52 ชั้น อาคาร C ความสูง 31 ชั้น อาคาร D ความสูง 3 ชั้น อาคาร E ความสูง 3 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ยังมีแพลนท์ปูน บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด ตั้งอยู่ภายในโครงการก่อสร้าง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ล้างทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกโครงการ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 พร้อมจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทถมดินท่าทราย ประเภทตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยให้เขตฯ เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นไปตามแนวทางร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน หากผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เขตฯ จะพิจารณายกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าว รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้า 694 ราย ดังนี้ 1.ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ค้า 193 ราย 2.หน้าตลาดเทวราช ผู้ค้า 92 ราย 3.ถนนสังคโลก ผู้ค้า 78 ราย 4.จุดประชาวิวัฒน์ ถนนพระรามที่ 5 ผู้ค้า 14 ราย 5.หน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) ผู้ค้า 77 ราย 6.ถนนคลองลำปัก ผู้ค้า 228 ราย 7.หน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร ผู้ค้า 12 ราย ซี่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด คือ 1.หน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร ผู้ค้า 12 ราย 2. หน้าตลาดเทวราช ผู้ค้า 92 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 480 ราย ดังนี้ 1.หน้าตลาดศรีย่าน ผู้ค้า 114 ราย 2.ตรงข้ามกรมชลประทาน ถนนสามเสน ผู้ค้า 84 ราย 3.ตรงข้ามตลาดศรีย่าน ถนนนครไชยศรี ผู้ค้า 91 ราย 4.หน้าตลาดราชวัตร ผู้ค้า 133 ราย 5.ข้างวัดสะพานสูง ผู้ค้า 58 ราย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารเรือนรับรองเกษะโกมล พื้นที่ 1,013 ตารางวา มีบุคลากร 13 คน วันที่มีงานจัดเลี้ยงจะมีผู้มาร่วมงาน 200-400 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังรองรับเศษอาหาร คัดแยกเศษอาหาร ใบไม้ กิ่งไม้ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล อาทิ ขวดน้ำ แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม ถุงพลาสติก 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังในจุดที่กำหนด คัดแยกขยะทั่วไป อาทิ ถุงใส่ขนม ถุงน้ำยาต่าง ๆ กล่องใส่อาหาร โฟมใส่อาหาร 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย อาทิ หลอดไฟ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ ขวดยาฆ่าแมลง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 100 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 24 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 75 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย
ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดุสิต สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล