In News

'ดีอี'เตือน! เฟคนิวส์สร้างความเข้าใจผิด 'ห้ามกินข้าวหลังตะวันตกดินเสี่ยงโรคร้าย



กรุงเทพฯ-กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “หลังตะวันตกดินห้ามทานอาหาร เพราะจะทำให้เป็นโรคความดันสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ และไขมันในเลือดสูง” รองลงมาคือเรื่อง “ง่วงนอนระหว่างวันเกิดจากเลือดเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และการหลับไม่สนิทตอนกลางคืน เกิดจากเลือดลมไม่ดี” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรือสร้างความวิตกกังวล ความเชื่อ และความเข้าใจคลาดเคลื่อนให้กับประชาชนในสังคม

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 988,737 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 283 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 233  ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 40 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 10 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 211 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 96 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 98 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 55 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 6 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 22 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 30 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และความเป็นปลอดภัยของประชาชน รองลงมาเป็นข่าวที่มีการอ้างถึงการติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง หลังตะวันตกดินห้ามทานอาหาร เพราะจะทำให้เป็นโรคความดันสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ และไขมันในเลือดสูง

อันดับที่ 2 : เรื่อง ง่วงนอนระหว่างวันเกิดจากเลือดเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และการหลับไม่สนิทตอนกลางคืน เกิดจากเลือดลมไม่ดี

อันดับที่ 3 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัครงานแพ็กถุง พับถุงกาแฟ รับจำนวนจำกัด ผ่านเพจงานฝีมือสร้างรายได้

อันดับที่ 4 : เรื่อง น้ำผึ้งใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และช่วยล้างลำไส้ได้

อันดับที่ 5 : เรื่อง รับทำใบขับขี่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องไปสอบเอง ทางเพจสอบให้

อันดับที่ 6 : เรื่อง บริษัท PONTINA ประกาศรับสมัครพนักงานแพ็กสบู่ ค่าจ้างจ่ายหน้างาน

อันดับที่ 7 : เรื่อง ธ.กรุงไทยปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลแบบดิจิทัล วงเงินขั้นต่ำ 50,000-3,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 1-12% ต่อปี ทางเพจ SME Krungthai Online

อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมบัญชีกลางส่งเอกสารแจ้งให้ขอรับเงินชดเชยค่าครองชีพที่ยังค้างอยู่ในระบบ โดยให้ยืนยันข้อมูลผ่านระบบ Digital Pension

อันดับที่ 9 : เรื่อง เรื่อง SMS แจ้งถุงลมนิรภัยบนรถไม่ได้มาตรฐาน ทางศูนย์จะเปลี่ยนถุงลมนิรภัยตัวใหม่ให้ฟรี

อันดับที่ 10 : เรื่อง กรมการจัดหางานเปิดเพจเฟซบุ๊กเพิ่ม 

“จาก 10 อันดับ พบข่าวในที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งอยู่ในหมวดหมู่ด้านนโยบายรัฐบาล ที่มีผลกระทบ สร้างความแตกตื่น และมีผลกระทบต่อความมั่นคง รวมทั้งด้านสังคม อาชีพ ความเป็นอยู่มากถึง 10 อันดับ โดยส่วนใหญ่มีรูปแบบแอบอ้างผลกระทบต่อสุขภาพ และรูปแบบการแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐ หรือติดต่อประสานงานหน่วยงานรัฐ ทำให้ประชาชนส่วนมากมีความวิตกกังวลในเรื่องของสุขภาพ หลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร ซึ่งอาจก่อให้ความเสียหายที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือความเชื่อแบบผิดๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
|  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com