In Bangkok

กทม.มุ่งลดการฝังกลบแท็กทีมเครือข่าย จัดไดรฟ์ทรูรับขยะ'บ้านนี้ไม่เทรวม'



กรุงเทพฯ-กทม. มุ่งลดการฝังกลบ แท็กทีมเครือข่าย จัดไดรฟ์ทรูรับขยะ “บ้านนี้ไม่เทรวม” ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง 

“ขยะเป็นเรื่องสำคัญของเมือง ใน 1 วัน กรุงเทพฯ มีขยะมากถึง 10,000 ตัน แต่จากการรณรงค์ในช่วงที่ผ่านมาทำให้สามารถลดขยะได้ เหลือเพียง 9,000 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นเพราะผลงานของพวกเราทุกคน ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายที่สละเวลามาร่วมกัน จะเห็นได้ว่าโครงการดี ๆ ของกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายจริง ๆ ขอบคุณที่ร่วมมือกันและขอให้ร่วมงานกันต่อไป” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดกิจกรรม “บ้านนี้ไม่เทรวม” ชวนเคลียร์บ้าน คัดแยก และส่งต่อขยะคืนสู่ระบบ สนับสนุนการหมุนเวียนใช้ประโยชน์โดยไม่ทิ้งรวม ภายใต้แนวคิดของทุกอย่างมีทางไป ร่วมกับเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand และภาคีเครือข่ายโครงการมือวิเศษกรุงเทพ ณ บริเวณถนนกลาง ภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand ภาคีเครือข่ายโครงการมือวิเศษกรุงเทพ N 15 Technology, Wake up Waste, Waste buy Delivery, Recycle Day, Bangkaya (บางขยะ), Ecolife, ShinMaywa, Food Bank จากสำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตดินแดง จัดกิจกรรม “บ้านนี้ไม่เทรวม” เพื่อช่วยส่งเสริมความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ในการคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพิ่มพูนมูลค่าของสิ่งของเหลือใช้ต่าง ๆ ทั้งวัสดุรีไซเคิลและขยะเศษอาหาร ซึ่งเมื่อคัดแยกแล้วสามารถส่งต่อไปยังภาคเอกชนที่รับไปใช้ประโยชน์ต่อ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้คัดแยกและผู้รับ อีกทั้งจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดของกรุงเทพมหานคร ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ประหยัดงบประมาณ และสามารถนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในการพัฒนาการศึกษา การสาธารณสุข และด้านอื่น ๆ ได้ 

โดยกิจกรรมวันนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถส่งขยะและบริจาคสิ่งของแบบไดรฟ์ทรูได้ 3 โซน ได้แก่ 

1. จุดรับขยะรีไซเคิล เข้ากระบวนการรีไซเคิลนำมากลับมาใช้ใหม่ อาทิ กระป๋องอลูมิเนียม แก้ว กระดาษ ขวดพลาสติก พลาสติกฟิล์มยืด กล่องยูเอชที กล่องข้าวที่เข้าไมโครเวฟได้ และขยะอันตราย อาทิ ถ่านไฟฉาย มือถือ พาวเวอร์แบงก์ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ขวดสเปรย์ เครื่องสำอาง กระป๋องสารเคมี ยาหมดอายุ 

2. จุดรับขยะกำพร้า ส่งทำพลังงานแทนการฝังกลบ ซึ่งจะส่งไปเผาร่วมกับถ่านหินในเตาเผาควบคุมมลพิษ เช่น แก้วกาแฟพลาสติก หลอด กล่องอาหารกรอบแกรบ ถุงวิบวับ ผ้าขี้ริ้ว เสื้อผ้า/รองเท้าเก่า กางเกงใน/ชุดชั้นในสตรีเก่า กระดาษเปื้อน โดยไม่รับพวกโลหะ กระเบื้อง ท่อ PVC  

3. จุดรับธนาคารอาหาร Food Bank รับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง ของใช้ครัวเรือน ยาสามัญประจำบ้าน เสื้อผ้ามือสอง เครื่องเขียน ตุ๊กตา ของเล่น เครื่องใช้สำนักงาน ช้อนส้อมพลาสติกที่ยังไม่ได้แกะใช้ ซองเครื่องปรุงที่ยังไม่หมดอายุ เป็นต้น นำมาที่จุดบริจาคบริเวณด้านหน้าอาคารไอราวัตพัฒนา

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถลงทะเบียนเป็น “บ้านนี้ไม่เทรวม”  เพื่อรับป้ายที่ระลึกบ่งชี้ว่าบ้านของเราเป็นบ้านที่แยกขยะ พร้อมรับถุงขยะฟรีกลับบ้านได้ด้วย

กิจกรรมในวันนี้มี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร นางอนงค์ เพชรทัต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตดินแดง ภาคีเครือข่ายรับขยะไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ ภาคีเครือข่ายแยกขยะ ประชาชนในพื้นที่ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม