In Bangkok

ขยับแผงค้าหน้าตลาดเคหะทุ่งสองห้อง ชมคัดแยกขยะ EGCO เขตหลักสี่ 



กรุงเทพฯ-เล็งขยับแผงค้าหน้าตลาดเคหะทุ่งสองห้อง ชมคัดแยกขยะ EGCO Group คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์งาน Landmark at Kasetsart เร่งแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินสาธารณะหมู่บ้านร่วมกิจกรุงศรี เขตหลักสี่ 

(8 ก.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหลักสี่ ประกอบด้วย 

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดเคหะทุ่งสองห้อง ถนนกำแพงเพชร 6 ซอย 7 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 114 ราย ได้แก่ 1.ตลาดท่าทราย ตั้งแต่โรงเรียนการเคหะท่าทราย ถึงศูนย์เยาวชนท่าทราย ผู้ค้า 57 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 2.ตลาดเคหะทุ่งสองห้อง ถนนกำแพงเพชร 6 ซอย 7 ตั้งแต่หน้าตลาดด้านซ้าย ถึงหน้าตลาดด้านขวา ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 3.ซอยวิภาวดี 64 ตั้งแต่ปากซอยวิภาวดีรังสิต 64 ถึงท้ายซอยวิภาวดีรังสิต 64 ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยงามวงศ์วาน 47 ผู้ค้า 23 ราย 2.ฝั่งตรงข้ามวัดหลักสี่ ผู้ค้า 12 ราย (ยกเลิกเมื่อเดือนมีนาคม 2567) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 1 แห่ง บริเวณซอยงามวงศ์วาน 43 ผู้ค้า 19 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางขยับแผงค้าหน้าตลาดเคหะทุ่งสองห้องเข้าไปด้านใน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการสัญจรให้มากขึ้น ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าหลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน และร่วมกันล้างทำความสะอาดพื้นที่ทุกวันจันทร์ เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบในพื้นที่ 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group พื้นที่ 40,340 ตารางเมตร มีบุคลากร 364 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2563 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เศษอาหารจะถูกคัดแยกบริเวณศูนย์อาหารของอาคาร ส่วนสำนักงานจะคัดแยกเศษอาหารบริเวณพื้นที่เตรียมอาหาร โดยชั่งน้ำหนักและติด Tag เพื่อให้ทราบว่าเป็นขยะประเภทอะไร เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะทั่วไป คัดแยกในแต่ละวัน ชั่งน้ำหนักและติด Tag เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 3.ขยะรีไซเคิล คัดแยกภายในหน่วยงานเพื่อจำหน่ายให้กับร้านที่รับซื้อไปกำจัดอย่างถูกวิธี 4.ขยะกำพร้า ขยะที่ยังมีผู้ต้องการนำไปใช้ ฝ่ายอาคารจะหาข้อมูลความต้องการ คัดแยกภายในหน่วยงานเพื่อนำส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธี (โครงการ N-15) ชั่งน้ำหนักและปริมาณขยะ บันทึกการจัดเก็บและส่งมอบ 5.ขยะอันตราย รวบรวมเก็บไว้ในพื้นที่ของอาคาร เมื่อมีขยะจำนวนมาก แจ้งเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 825.72 กิโลกรัม/เดือน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 831 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 554.38 กิโลกรัม/เดือน ขยะกำพร้าหลังคัดแยก 37.54 กิโลกรัม/เดือน บริษัทคัดแยกขยะและชั่งน้ำหนักทุกวัน บันทึกลงระบบเป็นเดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เยี่ยมชมการคัดแยกขยะบริเวณศูนย์อาหาร ชั้น 8 ซึ่งคัดแยกเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทาน มีการรวบรวมชั่งน้ำหนักและบันทึกสถิติ ก่อนส่งให้เขตฯ จัดเก็บไปทำปุ๋ยอินทรีย์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอีกด้วย 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Landmark at Kasetsart TSH Station (แลนด์มาร์ค แอท เกษตรศาสตร์ ทุ่งสองห้อง สเตชั่น) ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย จำนวน 3 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 19 ชั้น อาคาร B ความสูง 4 ชั้น อาคาร C ความสูง 19 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างจัดทำบ่อล้างล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 พร้อมจอแสดงผลด้านหน้าโครงการให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

ติดตามการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ บริเวณหมู่บ้านร่วมกิจกรุงศรี ถนนกำแพงเพชร 6 ซอย 7 แยก 3-12 โดยมอบหมายให้เขตฯ ประสานเจ้าของที่ดิน กรรมการหมู่บ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้อง มาประชุมทำความเข้าใจร่วมกัน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักฐานและกฎหมาย ซึ่งประชาชนในชุมชนมีความประสงค์ให้เขตฯ พัฒนาสภาพแวดล้อมและใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ โดยจัดทำเป็นสวน 15 นาที 

พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการจัดทำสวน 15 นาที โดยมอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสาธารณะทุ่งสองห้อง พื้นที่ 8 ไร่ 10.60 ตารางวา 2.สวนสาธารณะบึงสีกัน พื้นที่ 11 ไร่ 3.สวนหย่อมเคหะชุมชนบางบัว พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหมู่บ้านจัดสรรรถไฟ พื้นที่ 330 ตารางเมตร 2.สวนหมู่บ้านเจริญทรัพย์ พื้นที่ 142.5 ตารางเมตร 3.สวนซอยวิภาวดีรังสิต 62 พื้นที่ 2 งาน 25 ตารางวา 4.สวนหน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง พื้นที่ 800 ตารางเมตร 5.สวนเคหะชุมชนท่าทราย พื้นที่ 200 ตารางเมตร 6.สวน 100th รวมใจ@หลักสี่ พื้นที่ 528 ตารางเมตร 7.สวนซอยวิภาวดีรังสิต 58 พื้นที่ 110 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 

ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหลักสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล