In News

เห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนาระบบราชการ ยกระดับภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัลปี2570



กรุงเทพฯ-ครม. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) และมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไป

วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) และมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไป ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ภายหลังจากที่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2556-2561) สิ้นสุดลง สำนักงาน ก.พ.ร. ไม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563 เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) และได้มีการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2565) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดในแต่ละช่วงเวลา โดยมีแผนแม่บทซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการในแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ โดยมีแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเห็นว่า แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าวมีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการในภาพรวมสำหรับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐแล้ว จึงไม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในช่วงปี 2562-2563

ต่อมาสำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) โดยเห็นว่า ควรมีการรวบรวมกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไว้ในที่เดียวกัน ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบราชการ ดังนั้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2564-2565) เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเห็นเป้าหมายในภาพรวมของการพัฒนาระบบราชการ และกำหนดจุดมุ่งเน้นในการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นการเตรียมการรองรับการพัฒนาระบบราชการในระยะต่อไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เป็นการถ่ายทอดมาจากแผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สำนักงาน ก.พ.ร. จึงไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยได้เสนอ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และ ก.พ.ร. มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2564-2565) และให้สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งเวียนเพื่อเป็นแนวทางให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อไป

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2564-2565) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ฯ (พ.ศ. 2567-2570)1 โดยมีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ แผนแม่บทประเด็นที่ 20 การบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) (ในประเด็นยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง รวมทั้งการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ตลอดจนเตรียมพร้อมรองรับภัยคุกคามและวิกฤตการณ์ระดับชาติ) โดยมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาระบบราชการของประเทศที่มีขีดสมรรถนะด้านประสิทธิภาพภาครัฐสูง ประเด็นปัญหาและความท้าทาย รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดภาพรวมและค่าเป้าหมาย สรุปได้ ดังนี้

ประเด็น สาระสำคัญ
วิสัยทัศน์ ภาครัฐที่ทันสมัย น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
เป้าหมาย รัฐที่ล้ำหน้า (Digital & Innovative Government) และรัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) โดยมุ่งพัฒนาภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีความทันสมัย สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรัฐบาลเปิดที่เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น รวมทั้งปรับบทบาทภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ที่ปลดล็อกข้อจำกัดของประชาชนทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพหรือประกอบธุรกิจ การดึงดูดการลงทุน การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันและการเข้าถึงทางธุรกิจ อันจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ที่ดีต่อประชาชน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งผลให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ
ตัวชี้วัดภาพรวมและค่าเป้าหมาย - ความพึงพอใจในคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90
ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI)3 ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (คะแนนเต็ม 1)
อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Effectiveness) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 204

ยุทธศาสตร์ (เพื่อขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายตามข้อ 3.1) จำนวน 3 ยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แนวทางการขับเคลื่อนตัวอย่างโครงการสำคัญ (Flagship Project)5 และหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับบริการภาครัฐโดยยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง
เป้าหมาย : ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก ประหยัด ตอบโจทย์ มีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย ทั่วถึง และครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม ในขณะที่ภาครัฐสามารถส่งมอบบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวชี้วัด : (1) ความสำเร็จในการลดบทบาทการให้บริการของภาครัฐโดยการถ่ายโอนภารกิจให้ภาคส่วนอื่นดำเนินการแทนหรือร่วมดำเนินการกับภาครัฐ (ความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนร้อยละ 100)
          (2) ดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ (Online Service Index: OSI) ตามผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติ ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82
          (3) จำนวนงานบริการภาครัฐปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (Fully Digital) (ตั้งแต่การยื่นคำขอบริการ การชำระค่าธรรมเนียม และการรับเอกสารหรือใบอนุญาตที่ทางราชการออกให้) จำนวน 1,452 กระบวนงาน (จาก 2,420 กระบวนงาน ที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลได้ตามคู่มือมาตรฐานกลาง)6
          (4) ร้อยละของการใช้บริการภาครัฐผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการภาครัฐ (Biz Portal และ Citizen Portal)7 เทียบกับการใช้บริการภาครัฐผ่านช่องทางอื่น ๆ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ภายในปี 2570

กลยุทธ์ แนวทางการขับเคลื่อน
1. ลดบทบาทการให้บริการของภาครัฐและเปิดให้ภาคส่วนอื่นร่วมให้บริการหรือให้บริการแทนภาครัฐ 1.1 ยกเลิกภารกิจการให้บริการสาธารณะที่ภาคส่วนอื่นทำได้ดีกว่าภาครัฐและส่งเสริมบทบาทภาคส่วนอื่นแทน
1.2 ปรับระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ภาคส่วนอื่นสามารถเข้ามาให้บริการแทนภาครัฐหรือให้บริการร่วมกับภาครัฐได้
2. ยกระดับงานบริการที่ภาครัฐยังต้องดำเนินการเองเป็นดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะ End to End Service8 และตอบสนองประชาชนเชิงรุก 2.1 ปรับปรุงกระบวนการบริการเป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการแต่ละกลุ่ม
2.2 พัฒนาบริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to End Service) ในการประกอบธุรกิจและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับในแต่ละช่วงชีวิตผ่านระบบดิจิทัล
2.3 ยกระดับการให้บริการที่ตอบสนองประชาชนเชิงรุก
          - แจ้งสิทธิการได้รับบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทราบและบริการประชาชนโดยไม่ต้องติดต่อขอรับบริการจากภาครัฐด้วยตนเอง เช่น สิทธิการได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิการได้รับการรักษาพยาบาล สิทธิการได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
          - ปรับระบบการอนุมัติ อนุญาตต่าง ๆ เป็นระบบใบอนุญาตหลัก (Super License) ที่ผู้รับบริการสามารถขออนุญาตประกอบธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรได้ใน 1 ใบอนุญาต
3. ปรับบริการภาครัฐรายหน่วยงานเข้าสู่แพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐและเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน 3.1 ยกระดับแพลตฟอร์มกลางภาครัฐที่สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับลักษณะงานบริการที่แตกต่างกัน
3.2 เชื่อมโยงงานบริการของทุกหน่วยงานกับแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ โดยต้องมีการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลในการให้บริการประชาชนระหว่างหน่วยงาน
3.3 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์สูงสุดจากแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐ เช่น งานบริการที่มีขั้นตอน/กระบวนการเหมือนกันทั้งในส่วนกลาง จังหวัดและท้องถิ่น และสามารถให้บริการผ่านระบบเทคโนโลยีได้ อาจให้บริการโดยตรงสู่ประชาชนผ่านแพลตฟอร์มกลาง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านจังหวัด ท้องถิ่นหรือตัวกลางอื่น ๆ
ตัวอย่างโครงการสำคัญ : 1) โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกลางแห่งชาติ ซึ่งเป็นการบูรณาการหรือเชื่อมโยงช่องทางการยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการออนไลน์ของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ [โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมการปกครอง) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า] 2) โครงการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการลงทุน โดยเป็นการศึกษาและขับเคลื่อนการเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยตามแนวทางการประเมิน Business Ready (B-READY) ของธนาคารโลก (โดยสำนักงาน ก.พ.ร. และส่วนราชการที่มีงานบริการภาคธุรกิจ) และ 3) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการกลางภาครัฐ โดยพัฒนาเป็นช่องทางหลักให้ผู้รับบริการเข้าถึงทุกงานบริการของรัฐได้ภายในช่องทางเดียวอย่างครบวงจร (โดย สพร. สำนักงาน ก.พ. และส่วนราชการที่มีงานบริการประชาชน)
หน่วยงานรับผิดชอบ : กระทรวงการคลัง (กค.) พณ. มท. สำนักงาน ก.พ.ร. สพร. สพธอ. หน่วยงานที่มีงานบริการประชาชน และหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดบทบาทภาครัฐและเปิดการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนอื่น
เป้าหมาย : ภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาท ภารกิจ ลดบทบาทภาครัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจการบริหารในระดับพื้นที่ และเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นอันจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ที่ดีต่อประชาชน
ตัวชี้วัด : (1) ความสำเร็จในการปรับปรุงโครงสร้างภาครัฐให้เหมาะสม สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (ความสำเร็จของการดำเนินการตามแผน ร้อยละ 100)
          (2) ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) ตามผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติ มีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82
กลยุทธ์ แนวทางการขับเคลื่อน
1. กระจายอำนาจและลดบทบาทภาครัฐส่วนกลาง 1.1 แบ่งอำนาจ มอบอำนาจ และถ่ายโอนอำนาจจากภาครัฐส่วนกลางลงไปในระดับพื้นที่ ตลอดจนปรับโครงสร้างภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสม โดยการถ่ายโอนภารกิจที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องดำเนินการเองให้ภาคส่วนอื่นที่มีศักยภาพดำเนินการแทนหรือดำเนินการร่วมกับภาครัฐ และการยุบรวม/ยุบเลิก หรือปรับบทบาทหรือภารกิจภาครัฐที่หมดความจำเป็นหรือไม่คุ้มค่าในการดำเนินการ รวมทั้งควบคุมอัตรากำลังของบุคลากรภาครัฐให้สมดุลกับบทบาทภารกิจ
1.2 เสริสร้างศักยภาพของจังหวัดและท้องถิ่นให้พร้อมรับการถ่ายโอนอำนาจ/ภารกิจจากภาครัฐส่วนกลาง
1.3 ยกระดับบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่า CEO) ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมายนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
1.4 ปลดล็อกกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จังหวัดและท้องถิ่นสามารถบริหารทรัพยากร/แก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีศักยภาพดำเนินการเองได้
2. เปิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 2.1 เปิดข้อมูลภาครัฐ (Open Data) ให้ภาคส่วนอื่นเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน
2.2 พัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย9เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen)
2.3 บริหารงานในรูปแบบภาครัฐเครือข่ายที่ยึดประเด็นปัญหาเป็นตัวตั้งโดยภาครัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนและเปิดให้ภาคส่วนอื่นที่มีความชำนาญเข้ามามีบทบาทร่วม
ตัวอย่างโครงการสำคัญ : 1) โครงการปรับบทบาทภาครัฐแนวใหม่เพื่ออนาคต เป็นการทบทวนบทบาทภารกิจของภาครัฐ การปรับโครงสร้างภาครัฐให้รองรับภารกิจใหม่ และเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมจัดบริการสาธารณะหรือให้บริการแทนภาครัฐ (สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ.) และ 2) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมที่สร้างพื้นที่และเครื่องมือให้ภาครัฐและประชาชนใช้ในการให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็น รวมทั้งการตัดสินใจและดำเนินงานร่วมกัน [สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)]
หน่วยงานรับผิดชอบ : มท. สปน. สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สพร. และทุกส่วนราชการ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ขับเคลื่อนผลิตภาพภาครัฐด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล
เป้าหมาย : ภาครัฐมีความทันสมัย สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวชี้วัด : (1) ความสำเร็จในการปรับกระบวนงานภาครัฐที่สำคัญเข้าสู่ดิจิทัล (ร้อยละ 100)
          (2) ความสำเร็จในการปรับข้อมูลภาครัฐเป็นดิจิทัลที่มีมาตรฐาน และสามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของภาครัฐ (ร้อยละ 100)
          (3) หน่วยงานภาครัฐผ่านการประเมินสถานะการเป็นระบบราชการ 4.0 ระดับก้าวหน้าขึ้นไป (ร้อยละ 85)
กลยุทธ์ แนวทางการขับเคลื่อน
1. ยกระดับการทำงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล รวมถึงการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ 1.1 ปรับเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ได้มาตรฐานและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้
1.2 สร้างทักษะการใช้ข้อมูล (Data Literacy) และวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล (Data Culture)10 ในการทำงานและการตัดสินใจให้แก่บุคลากรภาครัฐทุกระดับรวมถึงทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skill) ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน
1.3 ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เช่น ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการคาดการณ์อนาคต
1.4 พัฒนากลไกสร้างนวัตกรรมทางการบริหารและระบบนิเวศในการทำงาน ที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมในหน่วยงาน
2. ปรับระบบงาน งบประมาณ บุคลากร และโครงสร้างภายในหน่วยงานให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว 2.1 ปรับระบบงบประมาณให้หน่วยงานภาครัฐสามารถบริหารงบประมาณได้อย่างยืดหยุ่น มุ่งเน้นผลลัพธ์ สามารถตอบโจทย์ที่สำคัญและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที
2.2 ปรับระบบงาน บุคลากร และโครงสร้างภาครัฐให้เป็นรูปแบบที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป มุ่งเน้นระบบการทำงานแบบแนวราบ11 โดยพัฒนากลไกให้หน่วยงานภาครัฐสามารถทดลองแนวทางการจัดโครงสร้างเพื่อความยืดหยุ่น คล่องตัว (OD Regulatory Sandbox)12 ตลอดจนการจัดตั้งหน่วยงานเสมือนจริง13 กรณีเป็นภารกิจที่มีความสำคัญจำเป็น โดยกำหนดประเภทและระยะเวลาคงอยู่ และให้มีการประเมินผลเมื่อครบกำหนดว่าจะจัดตั้งถาวร ยุบเลิกหรือขยายระยะเวลา
2.3 พัฒนาระบบนิเวศการทำงานที่ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพและเหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งปรับภาพลักษณ์ของระบบราชการเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ
3. ปรับระบบงานภาครัฐให้มีความโปร่งใส ไร้ทุจริตคอร์รัปชัน 3.1 ปรับกระบวนงานภาครัฐให้เป็นดิจิทัลโดยทบทวนและออกแบบกระบวนการทำงานใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการร่วมกันระหว่างบุคลากรและระบบเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยลดโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์ ลดปัญหาการใช้ดุลพินิจ และสามารถติดตามสถานะการดำเนินการได้ทุกขั้นตอน
3.2 เร่งปรับกระบวนการทำงานด้วยแพลตฟอร์มที่ใช้ร่วมกัน เช่น ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและช่วยลดต้นทุน
3.3 พัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรที่สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
3.4 พัฒนาระบบ/แพลตฟอร์มสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน
ตัวอย่างโครงการสำคัญ : 1) โครงการขับเคลื่อนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ เข้าสู่ส่วนกลางเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการตัดสินใจดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล [โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) (สำนักงานสถิติแห่งชาติและสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ)] 2) โครงการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานภาครัฐสู่องค์กรดิจิทัล โดยเร่งการพัฒนากระบวนงานที่มีลักษณะคล้ายกันในหลายหน่วยงานให้เป็นดิจิทัล (โดย สพร. และสำนักงาน ก.พ.) และ 3) โครงการพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรภาครัฐ โดยพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรภาครัฐที่สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมโยงกับระบบการเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน (โดยสำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร.)
หน่วยงานรับผิดชอบ : ดศ. สลน. สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สพร. และทุกส่วนราชการ
     

ประโยชน์ของร่างยุทธศาสตร์ฯ
1 เป็นการวางทิศทางและเป้าหมายการขับเคลื่อนระบบราชการในภาพรวมที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
2 เป็นแนวทางสนับสนุนให้หน่วยงานพัฒนาระบบการทำงานให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชน รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
3 เพิ่มประสิทธิภาพการบริการภาครัฐเพื่อตอบโจทย์ประชาชนและประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการที่หลากหลาย ทั่วถึง สะดวก ประหยัด และครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุม ครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ และขอให้สำนักงาน ก.พ.ร. นำความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาปรับรายละเอียดของร่างยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ ตามความเห็นของ สศช. และปรับปรุงให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลแล้ว โดย ก.พ.ร. ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับปรับปรุงดังกล่าวเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานต่อไป