In Bangkok
กทม.เตรียมรับมือสภาวะลานีญาถึงพ.ย.นี้ คาดสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ5-8%
กรุงเทพฯ-นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ จากสภาวะลานีญาว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศและปริมาณฝนตกตั้งแต่เดือน มิ.ย.- พ.ย. 67 จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5-8 สนน. ได้เตรียมความพร้อมรับมือสภาวะลานีญา โดยขุดลอกคูคลองความยาว 217 กิโลเมตร (กม.) ดำเนินการแล้วร้อยละ 82 ส่วนเปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืช ความยาว 1,965 กม. ดำเนินการแล้วร้อยละ 86 ซึ่งในส่วนของ สนน. ดำเนินการความยาว 766 กม. ได้ดำเนินการรอบที่ 1, 2 และ 3 แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างดำเนินการรอบที่ 4 ร้อยละ 77 ส่วนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ความยาว 1,199 กม. ดำเนินการแล้วร้อยละ 89 รวมถึงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด 13 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แห่ง ได้แก่ คลองเปรมประชากร จากคลองบางตลาดถึงคลองบ้านใหม่ ซึ่งการขุดลอกท่อระบายน้ำ กทม. มีแผนการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ จำนวน 4,230.6 กม. แล้วเสร็จ 3,231.6 กม. (ร้อยละ 76.4) อยู่ระหว่างดำเนินการ 999.0 กม. (ร้อยละ 23.6)
ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. โดยใช้แผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2567 ประกอบด้วย การควบคุมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งแก้มลิง 35 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง สำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย การเตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง ปัจจุบันได้ตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษาประจำปีแล้วเสร็จ การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็ว รวมถึงตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้า ตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำของ สนน. 477 แห่ง และเครื่องสูบน้ำดีเซลของสำนักงานเขต 421 เครื่อง สามารถใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนเตรียมความพร้อมอุปกรณ์สนับสนุน เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รถโมบายยูนิต เครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่หน่วย BEST เข้าแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนั้น ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยให้จัดตั้งที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นมา รวมถึงให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วม โดยให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาทันที อีกทั้ง กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย การตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยประสานและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ กทม. ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมถึงตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบระบายน้ำคูน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต และได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว