In News
'ไทย-ญี่ปุ่น'เคาะต่ออายุความตกลงBSA กำหนดลงนามฉบับใหม่ช่วงก.ค.67นี้
กรุงเทพฯ-"รัดเกล้า" เผย ไทย-ญี่ปุ่น ต่ออายุความตกลง BSA กำหนดลงนามฉบับใหม่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างทั้งสองประเทศ
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการต่ออายุความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Agreement) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังญี่ปุ่น (ความตกลง BSA) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจัดทำความตกลง BSA มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกทางการเงินในการให้ความช่วยเหลือระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralism: CMIM) ธปท. และกระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้จัดทำความตกลง BSA ฉบับแรกขึ้นเมื่อปี 2544 วงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งได้มีการปรับปรุงและต่ออายุมาอย่างต่อเนื่อง และมีความตกลง BSA มาแล้วทั้งสิ้น 5 ฉบับ โดย ครม. ได้มีมติรับทราบการต่ออายุความตกลง BSA ฉบับปัจจุบันเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ตามที่ กค. เสนอ และได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 23 กรกฎาคม 2567
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เห็นชอบการต่ออายุความตกลง BSA ฉบับใหม่ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 และพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 โดยมีกำหนดจะลงนามในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567
ความตกลง BSA ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญเพื่อขยายอายุความตกลงปัจจุบันไปอีก 3 ปี ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2570 ซึ่งการต่ออายุความตกลง BSA ครั้งนี้ไม่กระทบสาระสำคัญอื่นๆ ของความตกลง BSA โดยรายละเอียด ดังนี้
1. รูปแบบกลไก ประกอบด้วย (1) กลไกแก้ไขวิกฤต และ (2) กลไกป้องกันวิกฤต
2. รูปแบบการเบิกถอน ประกอบด้วย (1) การเบิกถอนสองทางสำหรับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Two-Way) และ (2) การเบิกถอนทางเดียวสำหรับสกุลเงินเยน (One-Way) ซึ่ง ธปท. สามารถเบิกถอนเป็นสกุลเงินเยนได้
3. วงเงินสูงสุดที่สามารถเบิกถอนได้ ประกอบด้วย (1) กรณีขอใช้วงเงินจาก BSAเพียงแหล่งเดียวจะสามารถเบิกถอนได้สูงสุด 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) กรณีขอใช้วงเงินจากทั้ง BSA และ CMIM ที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund (IMF) De-inked Portion) จะสามารถเบิกถอนได้สูงสุด 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) กรณีขอใช้วงเงินจากทั้ง BSA และ CMIM ที่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือของ IMF (IMF Linked Portion) จะสามารถเบิกถอนได้สูงสุด 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
4.อัตราดอกเบี้ย (Reference Rate) เป้นไปตามความตกลง CMIM
5.อายุสัญญา มีอายุ 3 ปี
ทั้งนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องลงนามในหนังสือรับทราบข้อผูกพัน ในกรณีที่ ธปท. ขอรับความช่วยเหลือจากความตกลง BSA นั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากความตกลงฉบับปัจจุบัน
ประโยชน์และผลกระทบ
1.การต่ออายุความตกลง BSA เป็นกลไกเสริมสภาพคล่องกรณีที่ไทยประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือปัญหาดุลการชำระเงิน และจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างไทยและญี่ปุ่น
2.การต่ออายุความตกลง BSA สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก ให้ความสำคัญกับการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ อย่างสมดุลตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และรักษาบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคและอนุภูมิภาค รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ องค์กรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงของประเทศไทย