Health & Beauty
'ความก้าวหน้าการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก' ประชุมวิชาการเพื่อเทิดพระเกียรติฯ
กรุงเทพฯ-กองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ร่วมกับ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ และโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช จัดประชุมวิชาการ“ความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 นี้
โรคมะเร็งในเด็กเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาหายขาดได้ค่อนข้างสูง หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ส่งผลให้เด็กที่หายขาดมีชีวิตไปอีกยาวนาน โดยปัจจุบันผู้ป่วยโรคมะเร็งเด็กมีอัตราการรอดชีวิตสูง 80-90% จากในอดีตที่มีอัตราการรอดชีวิตเพียง 20-30% เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กค่อนข้างสูงมาก ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาน้อย
นับเป็นพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ทรงห่วงใยต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กที่ยากไร้ทั่วประเทศ โดยพระองค์ท่านได้ประทานเงินส่วนพระองค์ จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อร่วมสมทบทุนก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กที่ยากไร้ทั่วประเทศ พร้อมทรงรับเป็นองค์พระอุปถัมภ์และประทานชื่อกองทุนว่า “กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กที่ยากไร้ทั่วประเทศ และให้การสนับสนุนงานวิจัยการพัฒนาบุคลากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งในเด็ก นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2560 และ 2561 ได้ทรงประทานเงินส่วนพระองค์ อีกปีละจำนวน 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุนนี้ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ ร่วมกับคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคมะเร็งในเด็ก ได้ร่วมก่อตั้งกองทุนขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2543 และวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ได้รับประทานชื่อเป็น “กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ” และล่าสุดวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2562 ได้ประทานพระอนุญาตแก้ไขชื่อกองทุนฯ เป็น “กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ”
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง เลขาธิการกองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า กองทุนโรคมะเร็งในเด็กฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งที่ยากไร้ทั่วประเทศ ผ่านทางแพทย์ที่ทำการรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ อาทิ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.เชียงรายประชา
นุเคราะห์ รพ.ศูนย์ลำปาง รพ.ศูนย์พิษณุโลก รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ศรีนครินทร์ รพ.ขอนแก่น รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.ศรีสะเกษ รพ.ศูนย์อุดรธานี รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.สุราษฎร์ธานี รพ.หาดใหญ่ รพ.สงขลานครินทร์ รพ.พระปกเกล้าจันทบุรี รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.พระมงกุฎเกล้า และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการปลูกถ่ายไขกระดูกจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนกว่า 200 ราย
ทั้งนี้ เพื่อเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 นี้ กองทุนโรคมะเร็งในเด็กฯ ร่วมกับ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ และโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช จัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “ความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก” เพื่ออัพเดทองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก ให้แก่ทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยมี
ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาฝ่ายบริหาร รพ.เด็กสมิติเวช และ พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม รพ. สมิติเวช และรพ. บีเอ็นเอช และผู้อำนวยการ รพ. เด็กสมิติเวช เป็นประธานเปิดงาน และ ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ ณ ห้องประชุม รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์
ในการประชุมดังกล่าวมีการเสวนาวิชาการเพื่ออัพเดท “สถานการณ์โรคมะเร็งเด็กในประเทศไทย” โดยทีมวิทยากรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งในเด็กจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ นำโดย ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง
รพ.รามาธิบดี, รศ.นพ.ปิติ เตชะวิจิตร รพ.จุฬาลงกรณ์, รศ.พญ.ชาลินี มนต์เสรีนุสรณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า, พญ.ยุจินดา เล็กตระกูล รพ.สรรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี, พญ.ณัจวาย์ ยุทธสมภพ รพ.หาดใหญ่ และ ผศ.พิเศษ พญ.สมใจ กาญจนาพงศ์กุล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
นอกจากนี้ ยังมีการอัพเดทนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆครอบคลุมเรื่องความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก อาทิ หัวข้อ “รังสีรักษาด้วยโปรตอน” โดย รศ.พญ.กาญจนา โชติเลอศักดิ์ รพ.จุฬาลงกรณ์, หัวข้อ “ยามุ่งเป้ากับโรคมะเร็งเด็ก” โดย นพ.พงศ์ภัค พงศ์พิชชา รพ.กรุงเทพ, หัวข้อ “การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อหรือแม่” โดย รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ รพ.รามาธิบดี, หัวข้อ "CAR T cell" ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบใหม่ด้วยการตัดต่อยีนเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์เพื่อเพิ่มภูมิ (Chimeric Antigen Receptor T-Cell ; CAR T-Cell) โดย พญ.ชญามน ทักษ์ประดิษฐ์ รพ.ศิริราช และหัวข้อ “การปลูกถ่ายตับในมะเร็งตับ” โดย ผศ.นพ.ชลศักดิ์
ถิรภัทรพันธ์ รพ.รามาธิบดี
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กมีอุบัติการณ์ในแต่ละปีสูงถึง 1,000 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง15ปี โดยโรคมะเร็งเด็กที่พบมากที่สุดคือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย (Leukemia)ร้อยละ 30 รองลงมาคือโรคมะเร็งสมอง ร้อยละ 20 โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้อยละ 15 โรคมะเร็งต่อมหมวกไต ร้อยละ 10 ส่วนโรคมะเร็งไต โรคมะเร็งกระดูกและกล้ามเนื้อลาย โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งลูกนัยน์ตา และโรคมะเร็งอื่นๆ พบในสัดส่วนที่เท่ากัน คือร้อยละ 5 ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในเด็ก ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ พบแค่ประมาณร้อยละ 1-3 เท่านั้นที่อาจมาจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคมะเร็งจอภาพตาของนัยน์ตา ส่วนโรคมะเร็งในเด็กชนิดอื่นยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นต้นเหตุ
“โรคมะเร็งในเด็กมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งของโรคมะเร็งในเด็ก มีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก ทุกๆเซลล์มีลักษณะคล้ายคลึงกันในคนๆ เดียวกัน จึงตอบสนองต่อการรักษาเหมือนกันและตอบสนองได้ดีมาก ประกอบกับในปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในเด็กกว่าแต่ก่อนมาก” ศ.นพ.สุรเดช กล่าว
ทั้งนี้ ยังมีผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังรอรับการช่วยเหลือจากกองทุนฯ ซึ่งในปัจจุบัน กองทุนยังขาดแคลนปัจจัยสนับสนุนอีกมากและคงเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมแบ่งปันน้ำใจคืนชีวิตใหม่ที่สดใสให้แก่หนูน้อยเหล่านั้น โอนเงินเข้าบัญชีชื่อ “กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ฯ” ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขา อ่อนนุช บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 133-2-08742-3 และใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
13 กรกฎาคม นี้ เป็นวันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันถวายพระพร ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญมีพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ตลอดไป