In Bangkok

กทม.เร่งตรวจป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย แนะเจ้าของป้ายทำตามกฎกระทรวง



กรุงเทพฯ-นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตป้ายโฆษณาบริเวณเชิงสะพานสาทรก่อนขึ้นสะพานติดกับร้านวัสดุก่อสร้าง ป้ายโฆษณาติดกับอาคารเรียนโรงเรียนสัจจพิทยา และป้ายโฆษณาเหนือถนนสาทรขาเข้า ซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ Plan B ติดตั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ว่า สนย. จะตรวจสอบป้ายโฆษณาบริเวณเชิงสะพานสาทร และป้ายโฆษณาติดกับอาคารเรียนโรงเรียนสัจจพิทยาว่า ป้ายดังกล่าวได้รับอนุญาตหรือไม่ หากไม่ได้รับอนุญาตจะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป ส่วนป้ายโฆษณาเหนือถนนสาทรขาเข้าจะประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ สำหรับป้ายข้างรั้วโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์และบริเวณทางเท้าก่อนถึงซอยพหลโยธิน 55/1 เขตบางเขน จากการตรวจสอบพบว่า ป้ายดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างโดยยังไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่ได้ออกคำสั่งห้ามใช้อาคารแล้ว

ทั้งนี้ สนย. มีแนวทางการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย ขั้นตอนการออกแบบ สำหรับป้ายบนดินที่มีความสูง 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร และป้ายบนอาคารที่มีพื้นที่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องดำเนินการโดยสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ขั้นตอนการตรวจสอบรายการคำนวณการออกแบบ สำหรับป้ายบนดินที่มีความสูง 10 เมตรขึ้นไป สำหรับป้ายที่มีพื้นที่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องดำเนินการโดยวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ขั้นตอนการควบคุมการก่อสร้าง (1) ป้ายบนดินที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร (2) ป้ายบนหลังคา ดาดฟ้า หรือกันสาด ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางเมตร ต้องดำเนินการโดยภาคีวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา หากป้ายนอกเหนือจากข้อ (1) และ (2) ต้องดำเนินการโดยสามัญวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธาขึ้นไป และขั้นตอนหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ สำหรับป้ายบนดินที่มีความสูง 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตร สำหรับป้ายบนอาคารที่มีพื้นที่ 25 ตารางเมตรขึ้นไปจะตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง แล้วจัดทำรายงานการตรวจสอบอาคารให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อพิจารณาออกใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (ใบ ร.1)

สำหรับป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ดินเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคาร 9 ประเภท ต้องได้รับการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง แก้ไขความชำรุดสึกหรอและความเสื่อมสภาพโดยดำเนินการตามที่กฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 จัดทำรายงานการตรวจสอบอาคารและยื่นรายงานต่อ สนย. เพื่อขอรับใบรับรองการตรวจสอบอาคาร (ร.1) ส่วนป้ายโฆษณาที่ยังไม่ได้ยื่นรายงานการตรวจสอบอาคาร อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตในการดำเนินการทางกฎหมาย โดย สนย. ได้ติดตามผล ตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของป้ายโฆษณาดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ. 2548 อย่างต่อเนื่อง