In Thailand
รองผบ.ทร.ประชุมความมั่นคงทางทะเล กองทัพเรือไทย-ออสเตรเลียที่ซิดนีย์
กรุงเทพฯ-รองผู้บัญชาการทหารเรือร่วมประชุม Navy to Navy Strategy Talks ระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือออสเตรเลีย ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 7 - 12 กรกฎาคม 2567 ณ นครซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย
ระหว่างวันที่ 7 - 12 ก.ค.67 พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะกองทัพเรือไทยร่วมประชุม Navy to Navy Strategy Talks ครั้งที่ 13 ร่วมกับ กองทัพเรือออสเตรเลีย โดยมี พล.ร.จ. Eric Young รักษาการ รองผู้บัญชาการทหารเรือ กองทัพเรือออสเตรเลีย พร้อมคณะ เข้าร่วมการประชุมฯ ณ นครซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย
การประชุม Navy to Navy Strategy Talks เป็นผลจากการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างกองทัพเรือไทยกับกองทัพเรือออสเตรเลียในด้านวิทยาศาสตร์ทางทหารที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้จัดการประชุมทุก 2 ปี โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ เป็นการพบปะสนทนาของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง มีรองผู้บัญชาการทหารเรือของทั้งสองประเทศ (หรือผู้แทน) เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้ การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้แทนกองทัพเรือทั้งสองประเทศประชุมหารือในเรื่องความมั่นคงทางทะเล การแลกเปลี่ยนและขยายความร่วมมือด้านต่างๆ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
หัวข้อในการประชุมครั้งนี้มีหัวข้อในการหาเรือที่สำคัญ ประกอบด้วย
- การติดตามการดำเนินการตามมติที่ประชุม NTNST ครั้งที่ 12
- การพิจารณาทบทวน Term of Reference (TORs) ของการประชุม Navy to Navy Strategy ให้มีความเป็นปัจจุบัน
- การหารือถึงกำหนดการในการฝึก AUSTHAI 2025 ในเบื้องต้นจะจัดขึ้นประมาณ เดือน มิ.ย.2568
- การหารือในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการฝึกผสม AUSTHAI เช่น การใช้ยานไร้คนขับ และการฝึกเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)
- การให้การสนับสนุนของฝ่ายออสเตรเลียในการจัดกำลังทางเรือและกำลังพลเข้าร่วมการฝึกผสม KAKADU 2024 ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป
- การขอรับการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาจาก ทร. ออสเตรเลีย และ การสนับสนุนที่นั่งหลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ และหลักสูตรวิทยาลัยการทัพเรือให้กับกองทัพเรือออสเตรเลีย รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนหลักสูตรสำหรับนายทหารระดับประทวนจากทางฝ่ายออสเตรเลีย
- การพิจารณากรอบแนวทางและรูปแบบการฝึกของชุดตรวจค้น (Boarding Operations training) ที่เหมาะสม ของกำลังพลประจำเรือของทั้งสองประเทศ
ผลการประชุมบรรลุตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี ตามเจตนารมย์ผู้บัญชาการทหารเรือที่มอบไว้ก่อนการเดินทางร่วมประชุม โดยให้ความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานอันจะทำให้มีความสัมพันธ์อันดีนี้ต่อไป
สมนึก เชื้อสนุก รายงาน