In News

ครม.ให้ขยายเวลากองทุนปรับโครงสร้าง การผลิตภาคเกษตรฯออกไปเป็นระยะ20ปี



กรุงเทพฯ-​ครม. มีมติชอบขยายระยะเวลาการดำเนินงานของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ออกไปเป็นระยะเวลา 20 ปี

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (16 กรกฎาคม 2567) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการดำเนินงานของกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุนฯ) ออกไปเป็นระยะเวลา 20 ปี (ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ถึง 19 กรกฎาคม 2587) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติ (20 กรกฎาคม 2547) เห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีในการพัฒนาโครงสร้างด้านเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนาคุณภาพตลอดจนการแปรรูป และการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปีแต่ปี 2548 - 2567 โดยจะสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงานในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567

กองทุนฯ ดังกล่าวยังมีความจำเป็นต้องดำเนินงานต่อไป เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำและกลไกของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีเป็นการเฉพาะให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ และอาจมีการเจรจาการค้าเสรีอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต 

หากกองทุนฯ สิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานจะส่งผลกระทบดังนี้ (1) ภาครัฐจะไม่มีกลไกในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐได้เจรจาเปิดการค้าเสรี (2) เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเปิดการค้าเสรีจะขาดแหล่งเงินทุนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนในการโครงสร้างการผลิต และการพัฒนาคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และ(3) โครงการต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนจะไม่มีเงินสนับสนุนต่อเนื่อง โดยเกษตรกรบางรายจำเป็นต้องส่งชำระเงินกองทุนก่อนเวลาตามแผนชำระคืน 

ที่ผ่านมากองทุนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 20 ปี รวมเป็นเงิน 998 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ จำนวน 34 โครงการ 11 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ชา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว พริกไทย ผักเมืองหนาว โคเนื้อ โคนม และสุกรรวมทั้งทั้งสิ้น 1,183.25 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินยืม 620.92 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 562.33 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 130,706 ครัวเรือน

แหล่งงบประมาณที่จะใช้สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไปประกอบด้วย (1) เงินและทรัพย์สินของกองทุนสะสม โดย ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนเงิน 541.059 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสด 209.897 ล้านบาท สินทรัพย์ 3.022 ล้านบาท และลูกหนี้ 328.740 ล้านบาทซึ่งสามารถใช้หมุนเวียนสำหรับอนุมัติโครงการในช่วงปี 2567-2568 ได้ประมาณ 200 ล้านบาท และ (2) ในกรณีที่เงินทุนหมุนเวียนของกองทุนฯ มีไม่เพียงพอจะเสนอของบฯ ประจำปี โดยคาดว่าจะเสนอของบฯ เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2568-2577 เฉลี่ยปีละ 208 ล้านบาท

กองทุนฯ ของ กษ. ไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เนื่องจากกองทุนของ กษ. มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรที่ทำการผลิตวัตถุดิบขั้นต้น ในขณะที่กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของ พณ. มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ SMEs ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนระหว่าง 2 กองทุน อาจมีการกำหนดเงื่อนไข เช่น (1) กองทุนทั้ง 2 กองทุนอาจมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเกี่ยวกับโครงการที่เคยให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมา (2) ผู้ขอรับความช่วยเหลือในการผลิตสินค้าเกษตรอาจสามารถเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือได้จากทั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของ พณ. หรือกองทุนฯ ของ กษ. แต่จะสามารถได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนใดกองทุนหนึ่งเท่านั้น เป็นต้น

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ ดังนี้ 

- กองทุนฯ เป็นกองทุนที่จัดตั้งตามพ.ร.บ. งบประมาณประจำปี ดังนั้น เห็นควรให้ กษ. จัดตั้งกองทุนโดยตราเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ประกอบกับมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี 

- อาจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนที่จัดตั้งขึ้น 

- ขอให้ดำเนินการไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 

- สำหรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ขอให้ กษ. จัดทำแผนการปฎิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

- กษ. ควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเพื่อบูรณาการการดำเนินงานและสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ควรกำหนดรายละเอียด รูปแบบ เงื่อนไข วิธีการ และกลุ่มเป้าหมายของกองทุนฯ ให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและทุนหมุนอื่น

- กษ. ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรและเครือข่ายการพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีทั้งในปัจจุบันและในระยะต่อไป เพื่อให้สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือตามขอบเขตภารกิจของกองทุนฯ ให้มากขึ้น รวมทั้งติดตาม กำกับดูแล และประเมินผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ อย่างใกล้ชิด

- กองทุนฯ ควรมีการดำเนินการในลักษณะที่มีความต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรต่อไปด้วย