In News

เผยผลสรุปเรื่องร้องทุกข์ไตรมาสแรกปี67 1.7หมื่นเรื่อง'2ช้างพลายศรีลังกา'สูงสุด



กรุงเทพฯ-วันนี้ (16 กรกฎาคม 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

1. สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 32,517 ครั้ง หรือคิดเป็น 17,050 เรื่องสามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ จำนวน 13,525 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79.33 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3,525 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20.67
2. หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (1,877 เรื่อง) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) (1,501 เรื่อง) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (750 เรื่อง) กระทรวงการคลั่ง (681 เรื่อง) และกระทรวงคมนาคม (468 เรื่อง) (2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (153 เรื่อง) การประปาส่วนภูมิภาค (107 เรื่อง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (102 เรื่อง) การไฟฟ้านครหลวง (87 เรื่อง) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (75 เรื่อง) (3) จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (796 เรื่อง) จังหวัดนนทบุรี (276 เรื่อง) สมุทรปราการ (186 เรื่อง) ปทุมธานี (156 เรื่อง) และชลบุรี (145 เรื่อง)

การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สรุปได้ดังนี้ 1) สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 17,050 เรื่อง มากกว่าไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,611 เรื่อง (มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 14,439 เรื่อง)  2) ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ (1) การนำเข้าและส่งออกสัตว์นอกราชอาณาจักร โดยขอให้นำช้างพลายประตูผากับพลายศรีณรงค์ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกากลับสู่ประเทศไทย ซึ่ง สปน. ได้ประสานส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทส. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ มท. รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว จำนวน 1,710 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,690 เรื่อง (ร้อยละ 98.83)
(2) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การเปิดเพลงเสียงดังการแสดงดนตรีสด การรวมกลุ่มดื่มสุรา การรวมกลุ่มแข่งรถจักรยานยนต์ การจัดคอนเสิร์ต การจัดงานวัด ร่วม 1,608 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,471 เรื่อง (ร้อยละ 91.48)
(3) ไฟฟ้า เช่น ปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ไฟฟ้าตกบ่อยครั้งขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ขอติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง ขอให้ตรวจสอบการคิดอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติขอผันผ่อนการชำระค่าไฟฟ้า รวม 791 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 683 เรื่อง (ร้อยละ 86.34)
(4) การเสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวม 730 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 662 เรื่อง (ร้อยละ 90.68)
(5) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนน ต้องปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต เนื่องจากถนนชำรุด มีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อมีฝุ่นละอองจากการสัญจรของรถบรรทุก รวม 566 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 389 เรื่อง (ร้อยละ 68.73)
(6) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรอสายนาน มีการต่อสายไปยังหน่วยงานย่อยภายในหลายครั้ง และคู่สายเต็ม รวม 561 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 450 เรื่อง (ร้อยละ 80.21)
(7) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน หลอกลวงให้โอนเงิน หลอกลวงให้ซื้อสินค้า หลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ รวม 488 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 313 เรื่อง (ร้อยละ 64.14)
(8) น้ำประปา เช่นขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลอ่อนเป็นบริเวณกว้าง การขอขยายเขตการให้บริการ ,ห่อน้ำประปาแตกชำรุด น้ำประปาขุ่นและมีตะกอน รวม 436 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 377 เรื่อง (ร้อยละ 86.47)
(9) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกหมิ่นประมาท รวม 409 เรื่องดำเนินการจนได้ข้อยุติ 319 เรื่อง (ร้อยละ 78)
(10)การจัดระเบียบการจราจร เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด การจอดรถกีดขวางทางจราจร ขอให้แก้ไขปัญหาระบบสัญญาณไฟจราจรซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่มีการจัดงานเทศกาล กิจกรรมประจำปีและการเดินทางกลับภูมิลำเนา รวม 354 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 300 เรื่อง (ร้อยละ 84.75)

3. ปัญหาและความต้องการของประชาชนที่ร้องทุกข์/หน่วยรับการประสานเรื่องร้องทุกข์ ดังนี้
1) การดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆประกอบด้วยผู้นำการขับเคลื่อนการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ประจำหน่วยงาน (Chief Complaint Executive Officer: CCEO) เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานเรื่องราวร้องทุกข์ และเครือข่ายสายข่าว ซึ่ง สปน. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลกับหน่วยงานเครือข่ายในหลายโครงการ โดยได้รับข้อเสนอแนะให้ สปน. จัดให้มีการประกาศเกียรติคุณหรือรางวัลให้แก่หน่วยงานที่สามารถจัดการเรื่องร้องทุกข์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2) กรณีช้างพลายที่ส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรี เป็นประเด็นที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นจำนวนมากและต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกับปัญหานี้และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนรัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญและตรวจสอบข้อเท็จจริงและสื่อสารให้ประชาชนมั่นใจในความเป็นอยู่ของช้างพลาย
3) กรณีปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันและการใช้บริการสาธารณูปโภค เช่น เหตุเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังรบกวน ปัญหาไฟฟ้า น้ำประปา ถนนและโทรศัพท์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงาน บูรณาการทำงานร่วมกันและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอัตราการร้องเรียนซ้ำ
4) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน กลุ่มมิจฉาชีพยังคงมีวิธีการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อจนสูญเสียเงินและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเชิงรุกร่วมกับการป้องกันและปราบปราม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กลโกง/กลลวงของกลุ่มมิจฉาชีพให้ประชาชนทราบอย่างทันท่วงที และครอบคลุมทุกช่องทางและทุกพื้นที่

4 ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้
1) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนทราบตามระยะเวลาที่กำหนดรวมทั้งหาแนวทางเพื่อป้องกันการร้องเรียนซ้ำในประเด็นเดิม
2) มอบหมายให้ สปน. จัดให้มีการมอบประกาศเกียรติคุณหรือรางวัลให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องร้องทุกข์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบที่ดี (Best Practice) โดยจะพิจารณาจากการเข้ารับงานในระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์และผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์จนได้ข้อยุติ หรือแนวทางอื่นใดที่มีความเหมาะสมที่จะส่งผลให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
3) มอบหมายให้ กต. ประสานทางการทูตเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงสภาพความเป็นอยู่ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของช้างพลาย และสื่อสารให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าช้างพลายได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี หรือหากมีความจำเป็นต้องนำช้างพลายกลับประเทศขอให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำกลับคืนสู่ประเทศต่อไก่
4) หน่วยงานควรมีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรเชิงรุกกรณีมีประเด็นที่เป็นกระแสสังคม อีกทั้งกรณีที่มีการดำเนินนโยบาย/มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ควรสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน