Think In Truth

'ท้าวก่ำกาดำ'นิทานสอนสถาบันครอบครัว โดย: ฟอนต์ สีดำ



สังคมไทยที่มีสถาบันครอบครัวที่มีความเข้มแข็งจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะได้รับการถ่ายทอดคุณธรรม จริยธรรม จากภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน ที่สร้างวัฒนธรรมการถ่ายทอดทางความคิดในการดำเนิชีวิตที่เป็นพหุสังคม ภายใต้เรื่องราวที่มีการเล่าจนเป็นที่น่าสนใจของคนในสังคม ไม่ว่าจะผ่านเสียงเล่านิทานของผู้ใหญ่ให้เด็กฟัง หรือศิลปะการแสดงไม่ว่าหมอลำ หรือบทกลอนลำ ซึ่งถือว่าเป็นบทเพลงที่กล่อมสังคมให้ได้รับการถ่ายทอความคิดทางวัฒนธรรม เพื่อให้ถือปฏิบัติ เพื่อสร้างสังคมที่มีความมั่นคง เข้มแข็ง สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นิทานพื้นบ้าน “ท้าวก่ำกาดำ” ก็เป็นนวัตรกรรมหนึ่งในการถ่ายทอดวัฒนธรรม การเลี้ยงดูบุตร หรือเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดถึงแนวคิดในการเลี้ยงดูบุตรหรือเยาวชน ให้สามารถเติบโตมาเพื่อสืบสายสายพันธุ์ และวิถีชีวิตของสังคมไปต่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งนิทานเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของการสืบทอดทางความคิดหรือทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน ที่เปรียบเทียบถึงความคิดในการเลี้ยงดูเยาวชนเพื่อให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม ซึ่งได้เปรียบเทียบถึงแนวคิดของครอบครัวสองครอบครัว ถึงทัศนคติที่มีต่อการเลี้ยงดูบุตร ครอบครัวแรกซึ่งเป็นพ่อแม่แท้ๆ ที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเยาวชน มองว่าบุตรไม่ได้ส่งเสริมสถานะทางสังคมของครอบครัว ทำให้ครอบครัวอับอาย จนต้องเอาเด็กไปทิ้ง ส่วนครอบครัวที่สองซึ่งไม่ใช่พ่อแม่แท้ๆ ของเด็ก แต่มีความรักและเลี้ยงดูพัฒนาความรู้ ความสามารถ พร้อมทั้งปลูกฝังแนวคิดในการทำตนให้เป็นที่รักของสังคม จึงทำให้เด็กคนคนเดียวกันสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม และยังตอบแทนพระคุณให้กับบุพการีให้มีความสุขได้ เรื่องย่อของนิทานเรื่องนี้ มีอยู่ว่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง หลังจากอยู่กินร่วมชีวิตกันเป็นเวลาหลายปี แต่หาได้มีบุตรไว้สืบสกุลไม่ สามีจึงปรึกษากับภรรยาว่า “นี่แม่นาง พี่เห็นว่าเราก็อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีบุตรสักที พี่เองก็อยากมีบุตรไว้สืบสกุล แล้วน้องล่ะ” สามีถามทิ้งท้าย “น้องก็เช่นกัน การไม่มีบุตรก็เท่ากับขาดคนสืบสกุลใช่ไหม” ภรรยาพูดเป็นเชิงถาม “ถ้าอย่างนั้นเราไปบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอบุตรดีไหม” สามีชวนเมื่อรู้ว่าภรรยาเห็นดีด้วยที่จะมีบุตร “ไปก็ไปสิจ๊ะ เพื่อเราจะได้มีบุตรไว้สืบสกุลกัน” ภรรยาตอบตกลง… เมื่อมีความเห็นตรงกัน และตกลงร่วมกันเช่นนั้น ทั้งสองจึงไปบนบานต่อศาลเทพารักษ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน จากนั้นไม่นาน ภรรยาก็ตั้งครรภ์และคลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย

แม้จะมีบุตรสมใจแต่ก็ไม่ให้ผู้เป็นมารดามีความสุขเลย เพราะกุมารน้อยที่เกิดมานั้นมีผิวดำเหมือนกา จนชาวบ้านเอาไปซุบซิบนินทานางว่า “มันต้องไปสมสู่กับกาแน่ ๆ ลูกจึงเกิดมาดำอย่างนั้น”…“ข้าว่าในอดีตมันต้องเป็นคนใจดำ อาจทำชั่วมาก่อนจึงได้ลูกดำมากขนาดนั้น” คำพูด คำนิทามีมากขึ้น ยิ่งนานวันการซุบซิบปากต่อมากกระทั่งพูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ผู้เป็นมารดารู้สึกอับอาย เมื่อผู้เป็นมารดาก็รู้สึกละอายที่ต้องมีลูกชายรูปชั่วตัวดำ จนนางอดทนไม่ไหวถึงกับเอ่ยปากกับผู้เป็นสามีว่า “พี่..ฉันคงเลี้ยงลูกคนนี้ไม่ไหวแล้ว เลี้ยงมันไว้ยิ่งนับวันจะอับอายขายหน้า ผู้คนในหมู่บ้านหาว่าฉันไปสมสู่กับอีกาจึงมีลูกตัวดำปี๋อย่างนี้ บางคนก็บอกว่าชาติก่อนฉันคงใจดำ ทำไม่ดีไว้มากชาตินี้จึงได้ลูกดำเหมือนกา” สามีไม่ปริปากว่าอะไร ได้แต่นั่งคิด ภรรยาเห็นสามีไม่พูดจึงปรึกษาว่า “ฉันว่าเอาลูกเราไปลอยแพทิ้งดีไหม” เมื่อได้ยินคำว่า “เอาลูกไปทิ้ง” สามีก็เริ่มปริปากพูด “เขาจะพูดกันก็ช่างปะไร แกจะไปเดือดร้อนทำไม ถึงตัวมันดำ ก็มีแขนขาหูตาครบส่วนทุกอย่าง ถึงอย่างไรก็เป็นลูกเรา นี่แกคิดจะลอยแพลูกทิ้งเชียวเหรอ” ผู้เป็นสามีติงอยางไม่เห็นด้วยฝ่ายภรรยา

เมื่อเห็นสามีไม่เห็นด้วย จึงคิดกลอุบายหาทางกำจัดกุมารน้อยรูปชั่วตัวดำ โดยไปให้สินบนกับโหรทำนายทายทักไปในทางไม่ดี เพื่อให้สามีของนางเชื่อตามนั้น “อย่ากระนั้นเลย ข้าอายคนมาก ข้าต้องหาหาเอาลูกไปทิ้งให้ได้ เมื่อเขาไม่ยอมเราก็ควรหาวิธีอื่น วิธีที่ดีที่สุดก็คือให้โหรช่วยทำนายว่าลูกจะทำภัยพิบัติมาให้ แล้วเขาก็จะเชื่อ” นางวางแผน “พี่ ฉันว่าเราไปปรึกษาโหรดีไหม” นางชวนสามี สามีคิดนิดหนึ่งแล้วตอบว่า “เออ…..ก็ดี เพราะโหรเขาจะรู้อนาคตได้ดี” แล้วทั้งสองก็ไปให้โหรทำนาย

โหรถูกว่าจ้างดังนั้นแล้วก็มาที่บ้านของสามีภรรยา บอกให้นำกุมารน้อยไปไว้ตรงหน้า แล้วถามถึงเดือนปีเกิดเวลาตกฟาก ซึ่งฝ่ายผู้เป็นภรรยาก็บอกให้โหรทราบทุกประการ ส่วนผู้เป็นสามีคอยนั่งฟังโหรทำนายด้วยใจจดใจจ่อ เพราะเขารักสงสารลูกชายตัวดำของเขามาก ผู้เป็นบิดาไม่เคยรังเกียจลูกเลย แม้จะเกิดมาตัวดำปี๋เหมือนอีกา หรือเหมือนถ่านก็ตามที ฝ่ายโหรเมื่อได้เวลาเกิดและยามตกฟากของกุมารผิวถ่านแล้ว ก็ทำทีขีดเขียนกระดานเพื่อคำนวณถึงชะตาราศรี เขาจึงทำนายไปตามที่ได้รับสินบนตามต้องการของหญิงผู้เป็นแม่… “โธ่…กุมารน้อยตัวดำเกิดมาในฤกษ์เป็นกาลกิณีแท้ ๆ จะนำภัยพิบัติมาสู่พ่อแม่ ขืนเลี้ยงไว้มีแต่จะทำให้ทุกข์ยากถึงขนาดพ่อแม่จะอายุสั้นต้องพรากจากกันเลยทีเดียว กุมารน้อยช่างเกิดมามีกรรมน่าสงสารแท้ๆ” ตอนท้ายโหรแกล้งบีบเสียงให้สมจริงสมจัง “นี่…โหรคำนวณไม่ผิดพลาดแน่นะ” ผู้เป็นพ่อสงสัย สงสารและเป็นห่วงลูกชายตัวดำ
“รับรองว่าตรวจทานตามวันเวลาเกิดและเวลาตกฟากถูกต้องทุกประการ” โหรยืนยัน

ผู้เป็นพ่อถึงจะรักและสงสารลูกน้อยตัวดำมากมายขนาดไหนก็มิอาจจะเลี้ยงได้แล้ว คำว่า “ภัยพิบัติ” และ “กาลกิณี” หมายถึงสิ่งชั่วร้ายจะต้องเกิดกับครอบครัว ไหนอายุพ่อแม่จะต้องสั้น ลูกอัปมงคลอย่างนี้คงเลี้ยงไว้ไม่ได้แล้ว กุมารน้อยตัวดำปี๋จึงลูกลอยแพทิ้งให้ลอยไปตามสายน้ำ แล้วแต่บุญกรรมนั่นแล้ว…ร้อนถึงเทวดาทิพยอาสน์เคยอ่อนนุ่มกลับแข็งกระด้าง ท่านจึงสอดส่องลงมายังเบื้องล่างก็เห็นกุมารน้อยถูกลอยแพตามกระแสน้ำจึงบันดาลให้แพลอยไปเกยตื้นใกล้อุทยานของพระราชา

บ่ายวันนั้นคนเฝ้าอุทยานลงมาอาบน้ำที่ท่าน้ำพบแพลอยน้ำใกล้เข้ามา ครั้นมองในแพ เห็นกุมารน้อยนอนดินกระแด่วอยู่ก็ดีใจ เพราะเขาเองยังไม่มีลูกทั้งที่อยู่กินกับภรรยามาหลายปี “โอ้…เจ้านี่เกิดมาตัวดำ ดำเหมือนอีกา พ่อจะตั้งชื่อให้นะ”… เฝ้าอุทยานนั่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ควรจะตั้งชื่ออย่างไรจึงจะสมรูปสมร่าง ในที่สุดก็คิดได้จึงร้องออกมาว่า….
“เออ…ข้าคิดออกแล้ว เข้าเกิดมาตัวดำ ดำเหมือนกา ดำเหมือนถ่าน ชื่อว่า “ท้าวก่ำกาดำ” ก็แล้วกัน”

ท้าวก่ำกาดำเจริญเติบโตขึ้นมาเพราะคนเฝ้าอุทยานของพระราชาเลี้ยงดู จนกลายเป็นหนุ่มเขาเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยงานปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ในอุทยานอย่างเอาใจใส่ จนต้นไม้ในอุทยานไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกไม้ผลก็ออกดอกติดผลจนกิ่งห้อยระดิน ท้าวก่ำกาดำจึงเป็นที่รักใคร่ของครอบครัวคนเฝ้าอุทยานของพระราชยิ่งนัก… วันหนึ่งพระธิดาทั้งเจ็ดของพระราชาเสด็จมาชมสวนพร้อมสาวสนมในวัง ท้าวก่ำกาดำแอบดูความสวยงามของพระธิดาทั้งเจ็ดซึ่งแต่ละนางล้วนมีความสวยงามมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่ท้าวก่ำกาดำมีความสนใจในพระธิดาน้องนุชสุดท้องคนที่เจ็ด มีชื่อว่า “นางลุน”

ท้าวก่ำกาดำมีความสามารถอีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถเป่าแคนได้ไพเราะเพราะพริ้งมาก หากใครได้ยินเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำก็จะหลงใหลจนลืมตัว นอกจากนั้นท้าวก่ำกาดำยังมีฝีมือร้อยพวงมาลัยดอกไม้ได้สวยงามยิ่งนัก…วันหนึ่งเขาร้อยพวงมาลัยดอกไม้สดบรรยายเป็นความรักแล้วให้ภรรยาคนเฝ้าสวนนำไปถวายนางลุนในวัง นางลุนได้รับพวงมาลัยบรรยายเป็นความรักจึงเกิดความหลงใหลใคร่อยากเห็นหน้าผู้ร้อยมาลัยมาถวาย ตอนค่ำทุกวัน ท้าวก่ำกาดำจะเป่าแคนให้เสียงแคนลอยตามลงไปจนถึงวัง ครั้นพระราชาได้ฟังเสียงแคนที่ไพเราะจึงมีรับสั่งให้คนเฝ้าอุทยานนำท้าวก่ำกาดำไปเป่าแคนถวายในวังจนเป็นที่โปรดปรานของพระราชา หากวันใดพระองค์ไม่ได้ฟังเสียงแคนของท้าวก่ำกาดำพระราชาจะบรรทมไม่หลับ ดังนั้นท้าวก่ำกาดำจึงต้องเข้าไปเป่าแคนถวายพระราชาในวังทุกค่ำคืน… ครั้นเมื่อพระราชาบรรทมหลับด้วยมนต์เสียงแคนของท้าวก่ำกาดำ จึงเป็นโอกาสให้หนุ่มรูปกายดำราวกับอีกาถือโอกาสลักลอบไปได้เสียกับพระธิดาองค์เล็ก คือ นางลุน ซึ่งจากนั้นเทวดาได้ดลให้ท้าวก่ำกาดำได้ถอดครบให้เป็นรูปกายอันงดงามด้วยความหล่อเหลาที่แท้จริงของเขา

ท้าวก่ำกาดำได้ขอให้พ่อแม่ซึ่งเป็นคนเฝ้าอุทยานไปสู่ขอนางลุนเป็นคู่ชีวิตของตน พระราชาไม่รังเกียจแต่เรียกค่าสินสอดเป็นเงินทองมากมาย รวมทั้งให้ท้าวก่ำกาดำสร้างสะพานเงินสะพานทองจากในอุทยานมาจนถึงวังของนางลุน ถ้าท้าวก่ำกาดำทำได้ให้ดังนั้นจะยกธิดานางลุนให้… ท้าวก่ำกาดำเป็นคนมีบุญญาธิการลงมาเกิด เป็นโอรสจากสวรรค์ พระอินทร์จึงลงมาช่วยอีกครั้งหนึ่ง… โดยเนรมิตเงินทองสินสอดทองหมั้น พร้อมสร้างสะพานทองจากอุทยานถึงวังของนางลุนได้สมกับความต้องการของพระราชา… ท้าวก่ำกาดำจึงได้แต่งงานกับพระธิดานางลุนและอยู่อย่างมีความสุข ท้าวก่ำกาดำได้รับพ่อแม่คนทำสวนและสืบหาพ่อแม่ที่แท้จริงของตน และได้รับเข้ามาเลี้ยงดูในวังเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณทุกคน ท้าวก่ำกาดำจึงอยู่กับคนรักและพ่อแม่อย่างมีความสุขสืบมา

หากจะวิเคราะห์ในวรรณกรรมเรื่องนี้ ก็คงต้องวิเคราะห์ตั้งแต่ชื่อเรื่อง “ท้าวก่ำ กาดำ” ถ้าหากใครไม่ใช่คนอีสานโดยกำเนิด และเติบโตในวัฒนธรรมและสังคมอีสานก็คงจะตีความหมายชื่อเรื่องกันยากหน่อย

ท้าวก่ำ กาดำ” เป็นคำคำผสมสี่คำ คือ “ท้าว” , “ก่ำ” , “กา” , “ดำ” คำว่าท้าว เป็นสรรพนามที่ใช้นำหน้าชื่อเรียกคนผู้ชายที่เป็นสามัญชน เช่น ท้าวแสนปม ท้าวไซสร ซึ่งส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิด นึกว่าเป็นคำนำหน้านางสนมในพระราชวัง ที่ใช้เรียกนำหน้าตำแหน่ง เช่น ท้าวศรีสุดาจันทร์ หมายถึง นางสนมจากหัวเมืองตะวันออก เป็นต้น

คำว่าก่ำ หมายถึงลักษณะนามที่บอกสีที่ดูคล้ำ ถ้ารวมกับคำว่าท้าว คือ ท้าวก่ำ หมายถึง ผู้ชายผิวคล้ำ  ส่วนคำว่ากา หมายถึง สัตว์ปีกจำพวกนกชนิดหนึ่งที่มีสีขนดำทั้งตัว มีเสียงร้อง “กา” “กา” นกชนิดนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กา” ส่วนคำว่าดำเป็นคำวิเศษที่บอกลักษณะของสี เพื่อมาขยาย “กา” ดังนั้น กาดำ จึงหมายถึงนกกาสีดำ นั่นเอง แต่เมื่อเอาคำทั้งสี่มารวมกันก็จะมีความหมายเปลี่ยนไป “ท้าวก่ำ กาดำ” หมายถึง ผู้ชายที่มีรูปชั่ว ตัวดำ  คือมีรูปลักษณ์ที่ไม่น่ารัก ไม่สง่างามนั่นเอง

หากจะวิเคราะห์สิ่งที่ซ่อนอย่ในเรื่องเพื่อสื่อในการบ่มเพาะและสั่งสอนผู้คนในสังคม สามารถจำแนกปรัชญาคำสอนที่สำคัญ ดังนี้

อย่าตัวสินคนด้วยรูปลักษณ์” ในเรื่องผู้เป็นแม่จริงๆ ไม่ได้พึงพอใจต่อบุตรที่เกิดมาที่มีผิวกายดำ เป็นที่อับอายต่อคนในสังคม นั่นคือ สังคมไทยเมื่อก่อนก็มีการเหยียดสีผิวเหมือนกัน และก็คงจะมีความรุนแรงในการเหยียดสีผิวไม่ได้น้อยไปกว่าชาวตะวันตกเลย เพราะในเรื่องมีความรุนแรงในการเหยียดสีผิวมากถึงขนาด แม่บังเกิดเกล้าสามารถนำบุตรชายของตนเองไปทิ้งด้วยการลอยไปกับน้ำ

สังคมควรตระหนักมองเยาวชนเป็นบุตรหลานของสังคม” คือ เมื่อเด็กผิวดำลอยน้ำมาถึงสวนพฤกษศาสตร์ของพระราชวัง ก็มีคนสวนได้นำกลับมาเลี้ยงดู ด้วยการมองผวดำเป็นเรื่องปกและน่ารัก จนตั้งชื่อเด็กคนนั้นเป็น “ท้าวก่ำ กาดำ” เพื่อใช้เรียกให้เกิดความคุ้นเคยโดยไม่รังเกลียด และสั่งสอนให้มีความรู้ ความสามารถในการทำงานช่วยเหลือครอบครัว อีกทั้งสอนศิลปะวิทยาการด้านดนตรี โดยเฉพาะศิลปะการเป่าแคนให้โดยไม่ไดเรังเกลียดและปิดบังความรู้

ไม่ควรตัดสินความเป็นคนด้วยรูปร่าง หน้าตา” ท้าวก่ำ กาดำ ถึงแม้นจะไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากแม่บังเกิดเกล้า แต่ก็ถูกเลี้ยงดูโดยคนสวน ที่ไม่เคยรังเกลียด เหยียดสีผิว จนกระทั่งได้แต่งงานกับราชบุตรีของพระราชาของเมืองนั้น ด้วยความสามารถที่ทำให้พระราชามีความเอ็นดู และพระธิดาของพระราชารักใคร่ อีกทั้งยังได้ตามเอาพ่อและแม่บังเกิดเกล้ามาเลี้ยงดูให้สบายในตอนสุดท้าย โดยไม่ถือโทษโกรธเคือง ที่ถูกทอดทิ้งตั้งแต่ยังแบเบาะ

ทุกคนมีความสามารถในการที่จะก้าวไปสู่ความเร็จได้ทุกคน” เรื่อง ท้าวก่ำ กาดำ เป็นอีกมุมหนึ่งที่สอนให้คนในสังคมไทยให้ความเคารพต่อคนทุกคน เพราะอนาคตข้างหน้า ไม่มีใครรู้ว่าคนที่อยู่ต่อหน้าเราในวันนี้ จะเป้นอย่างไร อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ หรืออาจจะล้มเหลวก็ได้ เราควรต้องทำดีต่อกันไว้เสมอ เมื่อเขาประสบความสำเร็จ เขาก็จะคิดถึงและย้อนกลับมาดูแลเรา หรือเขาอาจจะล้มเหลวและติดสินใจที่จะเป็นโจร เขาก็จะคิดถึงเราว่าเราเคยดีกับเขา เคยช่วยเหลือเขา เาก็จะไม่คิดทำร้ายเรา

ในแง่คิดที่เป็นการสืบทอดทางวัฒนธรรมที่ดีเพื่อการบ่มเพาะทางสังคม ของวรรณกรรม “ท้าวก่ำ กาดำ” ยังมีอีกหลายมุม แต่ที่แน่ๆ ของคุณค่าททางวรรณกรรมเรื่องนี้ คือ การบ่มเพาะคนในสังคมไทย ให้ความเคารพต่อความเป็นคนอย่างเสมอภาค ไม่เหยียดสีผิว ไม่เหยียดชั้นวรรณ ไม่ดูถูกในชาติกำเนิด ให้ความเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเสมอภาค จึงทำให้คนไทยมีคุณลักษณะที่สังคมโลกภายนอกไม่มี สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้ชัดเจน คือ การสะท้อนความคิดเห็นจากชาวต่างชาติที่เข้ามาเยือนในประเทศไทย แล้วตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยคือบ้านหลังที่สองของเขา เขารักประเทศไทย เขารักคนไทย พราะคนไทยเป็นมิตร คนไทยไม่เหยียดเชื้อชาติ ไม่เหยียดสีผิว คนไทยให้ความเคารพต่อความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ซึ่งชาวต่างชาติไม่มี และกลายเป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่ไม่สามารถสร้างได้ด้วยเงินห้าพันล้านบาท แต่มันเป็นการบ่มเพาะทางสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน ที่ฝังลึกในจิตสำนึกของคนไทย สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำในเวลานี้ คือการสร้างคุณค่าของวรรณกรรม และเครื่องมือในการบ่มเพาะคนไทย ให้มีจิตสำนึกที่ดี ด้วยการสร้างนวัตรกรรมสืบทอดที่ทันสมัย ที่ยงคงคุณค่าในเนื้อหาของวัฒนธรรมที่ดี เข้ามาทดแทนศิลปะการถ่ายทอดที่นับวันจะเสื่อมถอยไป เช่น หมอลำ ลิเก เป็นต้น