Travel Sport & Soft Power

'นลินี'นำเอกชนไทยเยี่ยมบังกลาเทศชม เขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวCox’s Bazar



“ดร. นลินี ทวีสิน นำคณะภาคเอกชนไทยเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวใน Cox’s Bazar บังกลาเทศ เมืองท่องเที่ยวที่มีชายหาดยาวที่สุด ในโลก ชี้เป็นโอกาสการลงทุนของไทยในธุรกิจท่องเที่ยว-โรงแรม”

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2567) ดร. นลินี นำคณะภาคเอกชนไทยเยี่ยมชม Sabrang Tourism Park และ Naf Tourism Park เขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวในเขต Cox’s Bazar บังกลาเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพสำหรับนักลงทุนไทยในภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการ จากปัจจัยด้านขนาดตลาดการท่องเที่ยวภายในของบังกลาเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตลอดจนสิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับการลงทุนในบริเวณเขตเศรษฐกิจ
 
ดร. นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดภารกิจใน วันสุดท้ายของการนำคณะนักธุรกิจไทยเยือนบังกลาเทศระหว่างวันที่ 13 - 17 กรกฎาคม 2567 ว่า ในวันนี้ ตนและคณะนักธุรกิจได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยว (Tourism Parks) 2 แห่งในเขต Cox’s Bazar ได้แก่ Sabrang Tourism Park ซึ่งมีพื้นที่ราว 2,500 ไร่ โดยบังกลาเทศต้องการพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว และต้องการให้ต่างชาติมาลงทุนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และอีกแห่ง คือ Naf Tourism Park ซึ่งเป็นเกาะในแม่น้ำ Naf ที่เป็นเขตแดนกับเมียนมา และอยู่ใกล้กับ Sabrang Tourism Park โดยมีแผนจะเชื่อมถึงกันด้วยรถเคเบิ้ล สำหรับพื้นที่ Naf Tourism Park นั้น รัฐบาลบังกลาเทศจะให้สัมปทานแก่ภาคเอกชนรายเดียวเป็นผู้พัฒนาพื้นที่ของเกาะในกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจท่องเที่ยวนั้น นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งในด้านภาษีและด้านอื่น ๆ

ผู้แทนการค้าไทยเสริมว่า Cox’s Bazar เป็นพื้นที่ศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีจุดเด่นตรงมีชายหาดที่ยาวที่สุดในโลก และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวบังกลาเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศของบังกลาเทศเองก็นับว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากมีประกรกว่า 170 ล้านคน อีกทั้งคาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังบังกลาเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจัยสำคัญ ๆ อาทิ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่สามของท่าอากาศยานกรุงธากา ซึ่งจะทำให้รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้น การปรับปรุงท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาค การยกระดับทางหลวงระหว่างเมือง และการสร้างทางรถไฟไป Cox’s Bazar จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ตนจึงเห็นว่า พื้นที่บริเวณ Cox’s Bazar เป็นโอกาสดีที่ภาคเอกชนไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและการบริการสามารถพิจารณาเข้ามาลงทุนได้
 
การนำคณะนักธุรกิจไทยเยือนบังกลาเทศในครั้งนี้เป็นผลจากการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของเชค ฮาซีนา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เมื่อเดือนเมษายน 2567 ซึ่งได้หารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผู้แทนการค้าไทยและเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา นำคณะภาคเอกชนไทยไปสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจที่บังกลาเทศเพื่อหาทางรักษาตลาดและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะในสาขาศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร พลังงาน สินค้าฮาลาล ท่องเที่ยว สุขภาพ และโลจิสติกส์