In News

'คารม'เตือนอย่ามัดรวมปอ.ม.110/ม.112 ไว้ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรม



กรุงเทพฯ-“คารม” เตือน ถ้านำความผิดตาม ปอ.ม. 110 และหรือ ม.112 เข้ามารวมใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจทำให้การนิรโทษกรรมไม่ประสบความสำเร็จ และกฎหมายดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังมีการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่กระทำผิด ระหว่างปี พ.ศ.2548  เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน  โดยในการนิรโทษ นั้น ไม่นำเอาความผิดเกี่ยวกับชีวิต  และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงรวมเข้าใน พ.ร.บ.การนิรโทษกรรม ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  110  และมาตรา  112  กรรมการที่ศึกษาเพื่อจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรมเห็นว่ามีความอ่อนไหวทางการเมือง มีความเห็นเป็น  3 แนวทาง คือ  1.ไม่ควรนิรโทษกรรม  2.ให้มีการนิรโทษกรรม โดยไม่มีเงื่อนไข  3.ให้มีการนิรโทษกรรม แบบมีมาตรการเงื่อนไข

“ผมขอแสดงความคิดเห็นในฐานะเป็นนักกฎหมาย  และเป็นคนที่เคยร่วมชุมนุมกับประชาชนในช่วงปี 2549 ถึงปี 2554 ได้สัมผัสถึงความรู้สึกความคิดเห็นที่แตกต่างในทางการเมืองของประชาชน ได้เห็นความต้องการของประชาชน   ที่มาเรียกร้องว่าเขาต้องการความเป็นอยู่ที่ดี  มาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ก็มาก มาแบบมีการจัดการก็มี  ดังนั้น เมื่อมีการดำเนินคดีกับประชาชนเหล่านี้  ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง   เพราะเขามาชุมนุมตามสิทธิที่เขาเข้าใจ และต้องการเรียกร้องในฐานะประชาชน ดังนั้น การดำเนินคดีกับประชาชนเหล่านี้จึงไม่ถูกต้อง   เขาจึงควรได้รับการนิรโทษกรรม ” นายคารม ระบุ

นายคารม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบุคคลที่กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 หรือมาตรา  112 นั้น ต้องเข้าใจว่าความผิดตามมาตรา 107 ถึงมาตรา  112 นั้นกฎหมายบัญญัติไว้ในหมวด 1  ลักษณะ  1  ภาค  2  ประมวลกฎหมายอาญา   เป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี  รัชทายาท  และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  เมื่อพิจารณาความผิดฐานนี้  ประกอบกับเนื้อความในรัฐธรรมนูญหมวด  1 บททั่วไป และหมวด  2  พระมหากษัตริย์ในหลายมาตรา  เช่นมาตรา  2  มาตรา  5  และมาตรา 6  จะเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  110 และ  112   มีลักษณะแตกต่างจากประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่น  เพราะบัญญัติไว้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ  เพราะฉะนั้นถ้ามีคนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญามาตรา  110  หรือ  112 แล้ว  ต่อมาได้มีการออกกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าว   ไม่ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด  เพราะการนิรโทษกรรมเท่ากับบุคคลนั้นไม่ได้กระทำผิดเลย  ทำให้มีนัยยะว่า อาจเป็นการส่งเสริมให้กระทำผิดและเมื่อกระทำผิดแล้วก็มาออกกฎหมายภายหลังว่าการกระทำดังกล่าว  ไม่ถือเป็นความผิด  โดยอ้างว่าที่กระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์์ไปนั้น  เพราะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง   จึงถือว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์์  ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า  พระองค์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ  ผู้ใดจะละเมิดมิได้  ผู้ใดจะกล่าวหาหรือจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ  มิได้

นายคารม กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณามาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ  ที่เขียนไว้ว่า  ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์์ทรงเป็นประมุข   ยิ่งเป็นการบอกชัดว่าการละเมิดพระมหากษัตริย์์ นั้น คือการเจตนากัดเซาะ บ่อนทำลายระบบการปกครองของประเทศไปด้วย  ดังนั้น การละเมิดพระมหากษัตริย์จึงไม่อาจทำได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาหรือทางใด  และไม่ต้องคำนึงถึงมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองหรือทางใดใด  ไม่อย่างนั้นทุกคนก็เอามูลเหตุจูงใจในทางการเมืองมาอ้าง เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์  การนำเอา ปอ. มาตรา 110 หรือ112 เข้ามาอยู่ในกฎหมายนิรโทษจึงทำไม่ได้  เพราะความผิดมาตรา 110 และ 112 ไม่เหมือนกับความผิดอาญาทั่วไป   จะทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมโมฆะเพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา 5 ค่อนข้างแน่นอน   ซึ่งจะทำให้ส่วนดีของกฎหมาย  และเจตนาดีที่จะนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่มาชุมนุมตกไปไม่ได้รับประโยชน์  แทนที่จะได้ลดความขัดแย้งลง  แต่จะเพิ่มความขัดแย้งเพราะนำมาตรา  110 และ 112  เข้าไปรวมด้วย

“สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า  กระทำความผิดตามมาตรา 110 หรือ  112   สิ่งน่าจะเหมาะสมและควรทำคือ  การให้เขาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม  เพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้มีเจตนากระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์์ โดยให้เขาได้รับสิทธิการประกันตัว  และหากสุดท้ายผลของคดีเป็นอย่างไร  บุคคลดังกล่าวยังมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษต่อองค์พระมหากษัตริย์์  ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระองค์ โดยแท้  “ นายคารม กล่าว