In News
โรคลัมปีสกินลาม9อำเภอในกาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์-นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ลงพื้นที่สำรวจและให้คำแนะนำช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่ประสบปัญหาโรคระบาดโรคลัมปี สกิน พร้อมฉีดพ่นหมอกควันกำจัดแมลงดูดเลือดพาหะนำโรค สำรวจเบื้องต้นอำเภอเมืองพบโคมีอาการ 136 ตัว เสียชีวิต 7 ตัว ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์พบลาม 9 อำเภอ
จากกรณีเกิดการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ในโค โดยพบใน 9 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตโรคระบาด พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกร ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกับนายอนุชา ศิริจันทร์ ปศุสัตว์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อาสาปศุสัตว์ ลงพื้นที่สำรวจสุขภาพสัตว์ของเกษตรกร ในพื้นที่ ต.หนองสอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายกังวาน แสนอุดม ปลัดเทศบาลตำบลหนองสอ และผู้นำชุมชน นำสำรวจและให้ข้อมูล โดยมีการแจกยาป้องกันและกำจัดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดลัมปี สกิน ในสัตว์ และพ่นหมอกควันกำจัดแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหะนำโรคดังกล่าว
นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดโรคโรคลัมปี สกิน ในสัตว์เลี้ยง ซึ่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ มีรายงานพบโคมีอาการติดเชื้อใน 9 อำเภอ ขณะในกระบือยังไม่มีรายงานว่าพบการติดเชื้อ ทั้งนี้ โรคดังกล่าว ถือว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยและพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยมีแมลงดูดเลือดหรือสัตว์ปีกจำพวกเหลือบ ริ้น เป็นพาหะนำโรค ล่าสุดนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตโรคระบาด พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่สำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกร ในวันนี้จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสุขภาพสัตว์ และมอบเวชภัณฑ์ป้องกันและบรรเทาอาการ พร้อมทำการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคตามคอกสัตว์ด้วย
ด้านนายอนุชา ศิริจันทร์ ปศุสัตว์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์โรคลัมปี สกิน ในพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มีเกษตรกรประสบปัญหา 92 ราย พบโคมีอาการ 136 ตัว เสียชีวิต 7 ตัว โดยโคที่เสียชีวิตเป็นลูกโคที่อายุไม่เกิน 4 เดือน เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ ทั้งนี้ ได้ส่งตัวอย่างไปพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยพัฒนาการสัตวแพทย์ (ศวพ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ขอนแก่น) แล้ว สำหรับอาการของโรคลัมปี สกินนั้น บางตัวจะพบอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง โดยอาการระยะแรกมีตุ่มขึ้นตามตัวของโค จากนั้นจะมีอาการซึม ไม่กินนม ไม่กินหญ้า ไม่กินน้ำ บางตัวมีน้ำตา น้ำมูกไหลตลอดเวลา
นายอนุชา กล่าวอีกว่า เนื่องจากโรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ยังไม่มีประสบการณ์ในการสังเกตอาการหรือดูแลสัตว์ที่ได้รับเชื้ออย่างถูกต้อง ในการสำรวจและมอบเวชภัณฑ์ในวันนี้ ยังได้ให้คำแนะนำในส่วนของการสังเกตอาการ การเฝ้าระวัง การป้องกัน รักษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้และสนับสนุนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ในการป้องกันและรักษาโรคด้วย
ขณะที่นายนิพนธ์ กุลชิต อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ 2 บ้านหนองสอใต้ ต.หนองสอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนสังเกตเห็นโคที่เลี้ยงในฟาร์มมีอาการติดโรคลัมปี สกิน เมื่อต้นเดือน พ.ค.นี้ 2 ตัว จึงได้แจ้งผู้ใหญ่บ้าน และอาสาปศุสัตว์ จากนั้นทำการแยกฝูง เพื่อป้องกันการระบาดและติดเชื้อ โดยที่ผ่านมาได้เฝ้าระวังอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด มีการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งทายาป้องกันสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค จึงสามารถยับยั้งไม่ให้อาการลุกลาม และอาการดีขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม นางพูนสิน ไชยรัตน์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่บริโภคเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อโค ไม่ควรตื่นตระหนกกับโรคลัมปี สกิน เนื่องจากเนื้อโคทุกตัวที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ ผ่านการตรวจเชื้อก่อนชำหละ รับรองไม่มีการนำโคที่ล้มป่วย หรือเป็นโรคลัมปี สกินมาเข้าโรงฆ่าสัตว์แน่นอน ขอให้ผู้บริโภคเชื่อถือในคุณภาพเนื้อสัตว์ที่ส่งออกจากโรงฆ่าสัตว์ ว่ามีคุณภาพ ปลอดภัย ที่สำคัญควรปรุงสุกก่อนรับประทาน